โรคกบ
ปัญหาโรคกบที่เกิดขึ้นโดยส่วนใหญ่นั้นเกิดมาจากความผิดพลาดทางการเลี้ยงและการจัดการ ทำให้มีการหมักหมมของเสียต่างๆเกิดขึ้นในบ่อ โดยการเลี้ยงกบในปัจจุบันนั้น เกษตรกรส่วนใหญ่จะเลี้ยงในบ่อปูนซีเมนต์ กระชังบก หรือบ่อผ้าใบ โดยสาเหตุหลักๆที่พบเจอ คือ การเลี้ยงกบอย่างหนาแน่นเกินไป ให้อาหารมากเกินไป และขาดความเอาใจใส่และไม่เข้าใจเรื่องความสะอาดของบ่อรวมถึงน้ำที่เลี้ยง โอกาสที่กบจะเป็นโรคจึงมีมากขึ้น โดยโรคกบที่พบเห็นได้บ่อยจะแบ่งออกได้ดังนี้
1.โรคติดเชื้อแบคทีเรีย เป็นโรคที่พบเจอได้บ่อยและสร้างความเสียหายให้กับผู้เลี้ยงกบมากที่สุด ทั้งในระยะลูกอ๊อดและกบเต็มวัย
1.1 โรคติดเชื้อแบคทีเรียในระยะลูกอ๊อด
อาการของโรค : ลูกอ๊อดจะมีลำตัวด่างคล้ายโรคตัวด่างในปลาดุกจากนั้นจะพบอาการท้องบวมและตกเลือดตามคีบหรือระยางค์ต่างๆ
สาเหตุของการเกิดโรค : เกิดจากการปล่อยลูกอ๊อดในอัตราที่มีความหนาแน่นมากเกินไปและมีการให้อาหารมากเกินทำให้คุณภาพน้ำไม่เหมาะสม โดยเฉพาะค่า pH ของน้ำจะต่ำลงมาก และอีกสาเหตุที่พบเจอบ่อยคือลูกอ๊อดกัดกันเองทำให้เกิดเป็นแผลตามลำตัวซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ติดเชื้อโรคในกลุ่มแบคทีเรีย Flexibacteris ได้ง่ายขึ้น
วิธีการรักษา : เริ่มอนุบาลลูกอ๊อดในจำนวนที่เหมาะสมโดยประมาณตารางเมตรละ 1,000 ตัวและทำการคัดไซส์คัดขนาดอาทิตย์ละ 2-3 ครั้ง จนกลายมาเป็นลูกกบแล้วให้อนุบาลจนถึงขนาด 1 ถึง 1.5 เซนติเมตรในจำนวนตารางเมตรละ 250 ตัวหลังจากนั้นเมื่อกบเริ่มโตให้ปล่อยกบลงเลี้ยงในอัตราตารางเมตรละ 100 ตัวซึ่งเป็นจำนวนที่เหมาะสมที่สุดและสามารถลดปัญหาการเกิดโรคได้ และที่สำคัญควรดูแลความสะอาดของบ่อและน้ำอย่างสม่ำเสมอ
หากพบว่าลูกกบเริ่มแสดงอาการตัวด่างควรใช้เกลือแกงแช่ในอัตรา 5 กิโลกรัมต่อน้ำ 1 ลูกบาศก์เมตร เป็นเวลา 3 ถึง 5 วัน อาจจะต้องใช้ยาออกซิเตตร้าไซคลินในอัตรา 10 ถึง 20 กรัมต่อน้ำ 1 ลูกบาศก์เมตร ติดต่อกันทุกวัน 3-5 วัน ( ไม่ควรใช้ยา 2 ชนิดนี้พร้อมกันเพราะเกลือจะทำให้ประสิทธิภาพของยาลดต่ำลง )
1.2 โรคติดต่อแบคทีเรียในระยะเต็มวัย
อาการของโรค : อาการของโรคนั้นจะเกิดขึ้นได้จากเชื้อแบคทีเรีย 2 ชนิด คือ Aeromonas และ Pseudomonas ซึ่งพบได้ทั้งในกบขนาดเล็กและในกบโตเต็มวัย อาการทั่วไปที่พบได้แก่ การเกิดแผลที่มีลักษณะเป็นจุดแดงตามขาและผิวตัวโดยเฉพาะด้านท้องจนถึงแผลเน่าเปื่อยบริเวณปากลำตัวและขาเป็นต้น เมื่อเปิดช่องท้องเพื่อดูอวัยวะภายในจะพบว่ามีของเหลวในช่องท้อง ตับมีขนาดใหญ่และมีจุดสีเหลืองซีดกระจายอยู่ไปทั่ว
สาเหตุของการเกิดโรค : เกิดจากสภาพน้ำและสภาพบ่อมีความสกปรกมาก ควรเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกวันและหมั่นคอยสังเกตจำนวนกบในกระชังไม่ให้มีความหนาแน่นมากเกินไป หากเลี้ยงในบ่อปูนซีเมนต์ควรทำพื้นบ่อและตัวบ่อภายในให้เรียบที่สุด เพราะรอยคมของคอนกรีตสามารถบาดผิวกบได้ ซึ่งทำให้มีโอกาสติดเชื้อแบคทีเรียได้ง่าย เกษตรกรส่วนใหญ่จึงหันมานิยมเพาะเลี้ยงในกระชังบกหรือบ่อผ้าใบ ซึ่งช่วยลดปัญหาเหล่านี้ได้ค่อนข้างดี
วิธีการรักษา : เมื่อกบเป็นโรคควรรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ เช่น ใช้ยาออกซิเตตร้าไซคลีนผสมอาหารให้กบกินในอัตรา 3 - 5 กรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัมต่อวัน กินติดต่อจนกว่าอาการจะดีขึ้น
2.โรคที่เกิดจากพยาธิรบกวน
2.1 โปรโตซัวในทางเดินอาหาร
อาการของโรค : จะพบว่ากบไม่ค่อยกินอาหาร เจริญเติบโตช้าตัวผอมซีด เมื่อตรวจดูในลำไส้จะพบโปรโตซัวในกลุ่ม apalina sp และ balantidium sp อยู่เป็นจำนวนมาก หากปล่อยไว้เป็นเวลานานไม่ได้รับการรักษาอาจจะทำให้กบตายได้
วิธีการรักษา : ควรใช้ยา metronidazole ผสมอาหารให้กินในอัตรา 3-5 กรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม โดยให้กินติดต่อกันครั้งละ 3 วัน และเว้นระยะ 3-4 วัน ทำแบบนี้ซ้ำกัน 2-3 ครั้งหรือจนกว่ากบจะมีอาการดีขึ้นและกลับมากินอาหารปกติ
2.2 พยาธิใบไม้ พยาธิตัวแบน
อาการของโรค : พยาธิ 2 ชนิดนี้พบเจอบ่อยในลำไส้กบ ทำให้กบมีการเจริญเติบโตช้ากว่าปกติ บางตัวซูบผอม แคระแกร็น เพราะขาดสารอาหาร
วิธีการรักษา : ให้รักษาด้วยยาถ่ายพยาธิภายใน เปปเปอร์ราซินผสมลงในอาหารให้กบกินในอัตราส่วน 0.1% ของน้ำหนักตัวกบ
------------------------------------
รับผลิต-สั่งทำ
กระชังน้ำ กระชังมุ้งถัก กระชังอวน
กระชังบกเลี้ยงกบ/ปลาดุก บ่อผ้าใบเลี้ยงปลา
www.lukpramongthai.com