การประชุมข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) สนธิสัญญาระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันทางกฏหมาย ณ กรุงปารีส เมื่อปี ค.ศ.2015 โดยมี 197 ประเทศที่เข้าร่วมประชุม มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน ดังนี้
รักษาอุณหภูมิของโลกไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียส และตั้งเป้าไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส
ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากกิจกรรมของมนุษย์ ให้อยู่ในเกณฑ์ที่ต้นไม้ ดิน และมหาสมุทร จะสามารถดูดซับได้ โดยจะเริ่มในปี ค.ศ.2050 - 2100
แผนปฏิบัติการลดการปล่อยมลพิษระดับชาติ โดยทุกๆ 5 ปี เหล่าประเทศต่างๆ จะต้องกลับมาพร้อมกับแผนการฉบับปรับปรุงใหม่
ให้โอกาสประเทศที่พัฒนาแล้วหรือประเทศที่ร่ำรวย สามารถช่วยเหลือประเทศที่ยังไม่พัฒนาได้ ผ่านเงินสนับสนุนด้านภูมิอากาศ เพื่อปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ และหันไปใช้พลังงานทดแทน
หลังจากที่มีการประชุมดังกล่าว ทำให้นานาประเทศ ร่วมมือกันเพื่อดำเนินการให้บรรลุตามเป้าหมายที่แต่ละประเทศให้คำมั่นสัญญาไว้ ซึ่งหนึ่งในการดำเนินการเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก คือ การลดการปล่อยก๊าซฯ ของภาคอุตสาหกรรม, การหันมาใช้พลังงานทดแทน, ลดการตัดไม้ทำลายป่า, ปลูกป่าปลูกต้นไม้ เป็นต้น นอกจากนั้นประเทศที่พัฒนาแล้ว เร่งพัฒนาคิดค้นเทคโนโลยีเพื่อลดการปล่อยก๊าซฯ นั่นคือ เครื่องดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ CCS (Carbon Capture and Storage)
เครื่องดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ CCS (Carbon Capture and Storage) หรือเทคโนโลยี CCS คือ เทคโนโลยีดักจับและเก็บก๊าซคาร์บอนที่ถูกปล่อยจากเชื้อเพลิงฟอซซฺล เช่น โรงไฟฟ้าประเภทถ่านหิน, โรงไฟฟ้า, กระบวนการกลั่นน้ำมัน หรืออุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยจะถูกแยกจากก๊าซชนิดอื่นๆ ผ่านกระบวการทางเคมี คือ สารละลายเอมีน (Amine) และจะถูกเก็บสู่ใต้พื้นดินที่มีความลึกหลายกิโลเมตร จะคงอยู่ใต้พื้นดินเป็นเวลาหลายล้านปีโดยไม่รั่วไหลออกมา
เดิมทีเทคโนโลยี CCS เป็นเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้ในโรงงานอุตสากรรมแล้ว แต่นำมาใช้เพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำมันดิบเสียมากกว่า จนกระทั้งทศวรรษที่ 1980 มีการคิดค้นและพัฒนาขึ้นเพื่อนำมาใช้ในด้านของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิกาศ และในทศวรรษที่ 1990 ถูกนำมาใช้เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย แม้จะมีต้นทุนทางด้านการผลิตที่สูงก็ตาม
ล่าสุดเมื่อ 22 ม.ค.64 อีลอน มาสก์ นักธุรกิจเจ้าของบริษัทรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเทสลา อิงค์ และนักประดิษฐ์ชื่อดังระดับโลก ประกาศหาผู้ที่สามารถคิดค้นเทคโนโลยีเครื่องดักจับคาร์บอนที่ดีที่สุด (Carbon Capture Technology) เพื่อนำมาใช้ในการลดปัญหาภาวะโลกร้อน เพราะเขาเห็นว่า ออกซิเจนในโลกลดลงเนื่องจากมีการตัดไม้ทำลายป่า ธรรมชาติขาดความสมดุล เกิดมลภาวะทั่วโลก โดยเสนอเงินรางวัลถึง 100 ล้านเหรียญสหรัฐ (สามพันล้านบาทไทย) ซึ่งได้รับความสนใจจากทั่วทุกมุมโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย แอนโทนี่ - ปิยชนม์ ภุมวิภาชน์ เด็กน้อยอายุ 15 ปี ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการที่บ้านเกิดต้นเอง (จ.เชียงราย) ประสบปัญหาPm2.5 ด้านควันและมลภาวะทางอากาศ จึงทำให้น้องอยากที่จะพัฒนาและทำให้อากาศบริสุทธิ์ โดยคิดค้นร่วมกันกับคุณลุง ผลิตเครื่องมือที่มีกลไกเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศเป็นก๊าซไฮโดรเจนบริสุทธิ์เพื่อทำเชื้อเพลิง และก๊าซออกซิเจนเพื่อคืนสู่ชั้นบรรยากาศ ที่สำคัญเครื่องนี้สามารถกำจัดฝุ่น PM2.5 ได้อีกด้วย
ปัจจุบันรัฐบาลประเทศต่างๆ ให้ความสำคัญและส่งเสริมเทคโนโลยี CCS เพราะเป็นตัวช่วยหนึ่งที่สามารถช่วยในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่ได้ให้คำมั่นสัญญาไว้กับประชาคมโลก แต่ทั้งนี้หากทุกคนร่วมมือกันในทุกกิจวัตรประจำวัน หันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรม คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติ เท่านี้คุณก็เป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงโลกได้