บ่อยครั้งที่อุบัติเหตุมักเกิดขึ้นจากความประมาทของผู้ขับขี่และผู้ร่วมใช้รถใช้ถนน แต่ส่วนหนึ่งที่เป็นปัญหานอกจากความประมาทแล้ว คือ ความไม่พร้อมของผู้ขับ ที่บางคนอาจอ่อนประสบการณ์บนท้องถนน หรือแม้แต่มีอายุไม่ถึงตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด แล้วอายุเท่าไร จึงจะสามารถทำใบขับขี่รถยนต์แต่ละประเภทได้ตามกฎหมาย หรือหากฝ่าฝืนจะมีโทษอย่างไรบ้าง
ทำใบขับขี่ได้ ต้องอายุเท่าไร?
กฎหมายว่าด้วยการทำใบขับขี่ ไม่ว่าจะเป็นใบขับขี่รถยนต์ ใบขับขี่รถจักรยานยนต์ หรือใบขับขี่รถสาธารณะ ผู้ขับขี่ต้องมีอายุตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด ดังนี้
1.ใบขับขี่รถยนต์
•ใบขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคล (ชั่วคราว) ต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป
•ใบขับขี่รถยนต์สาธารณะ ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 22 ปีบริบูรณ์
2.ใบขับขี่รถจักรยานยนต์
•ใบขับขี่รถจักรยานยนต์ ความจุไม่เกิน 110 ซีซี. ต้องมีอายุ 15 ปีขึ้นไป
•ใบขับขี่รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล (ชั่วคราว) ต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป
•ใบขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์
3.ทำใบขับขี่ อายุเท่าไหร่ สำหรับรถประเภทอื่น ๆ
•ใบขับขี่รถบดถนน รถแทรกเตอร์ และรถชนิดอื่น ๆ ตามมาตรา 43 ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์
เมื่อเยาวชนขับขี่โดยไม่มีใบอนุญาต
•ถูกเรียกตรวจใบขับขี่ ถ้าไม่มีใบขับขี่ก็ถูกปรับตามกฎหมายกำหนด
•ถูกตรวจสอบรถยนต์ อาจจะถูกจับเรื่องไม่ได้ต่ออายุ พ.ร.บ. เพิ่มเติมด้วย ซึ่งนำมาซึ่งความผิดอื่น ๆ จากตัวรถ เช่น การดัดแปลงตัวรถ ซึ่งผู้เยาว์อาจเกิดความสับสนเมื่อต้องตอบคำถามเกี่ยวกับกฎหมาย
•เมื่อเกิดอุบัติเหตุ พ่อแม่ ต้องรับผิดเพราะเป็นผู้พิทักษ์ของผู้เยาว์ ส่วนเจ้าของรถตัวจริงหากไม่ใช่ผู้ปกครองก็ต้องมารับผิดชอบเรื่องความเสียหาย (แต่หากบริษัทประกันภัยตรวจสอบได้ว่าคนขับรถเป็นผู้เยาว์ ไม่มีใบขับขี่ ก็อาจจะมีผลต่อสัญญาเคลมประกัน เพราะถือว่าทำผิดต่อกฎหมาย)
ไม่มีใบขับขี่ โดนชน แจ้งเคลมได้ไหม?
ประเทศไทยมีการกำหนดกฎหมายเกี่ยวกับอายุของผู้เยาว์ที่อนุญาตให้มีใบขับขี่เพื่อขับรถยนต์ออกถนนใหญ่เองได้ตั้งแต่อายุ 18 ปีเต็ม แต่ในความเป็นจริงพบว่า เด็กบางคนมีรูปร่างสูงใหญ่หรือมีร่างกายที่เอื้อต่อการเหยียบคันเร่ง หยิบจับปุ่มต่าง ๆ บังคับพวงมาลัยได้ตั้งแต่อายุน้อยกว่า 15 ปี แต่หากอายุไม่ครบตามที่กฎหมายกำหนด จะไม่สามารถขอรับใบขับขี่ได้
หากเกิดเหตุที่เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี นำรถออกไปขับบนท้องถนนโดยที่ยังไม่มีใบขับขี่ แม้ว่ารถยนต์ทำประกันรถยนต์ชั้น 1 ไว้ เมื่อเกิดอุบัติเหตุจนเป็นเหตุให้รถคู่กรณีเสียหาย หรือแม้แต่รถของผู้เอาประกันเองก็ตาม ทางบริษัทฯ ประกันอาจจะพิจารณาจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่คู่กรณีทุกความคุ้มครอง ไม่ว่าจะมีคนเจ็บ หรือข้าวของในรถยนต์เสียหาย รถยนต์บุบพังเสียหาย จะได้รับความคุ้มครองทั้งหมด แต่ตัวเจ้าของรถผู้เอาประกัน อาจต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าซ่อมรถหรือค่ารักษาพยาบาลเองทั้งหมด เนื่องจากการทำสัญญากับบริษัทประกันภัยรถยนต์ จะต้องนำรถยนต์ไปใช้งานอย่างถูกกฎหมายเท่านั้น ซึ่งในที่นี้เมื่อผู้ขับขี่ไม่มีใบอนุญาตขับขี่จะทำให้กลายเป็นทำผิดกฎหมายไปโดยปริยาย และผู้ปกครองจะมีโทษทางกฎหมายตามไปด้วย ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 829 ว่า
“บุคคลใดแม้ไร้ความสามารถเพราะเหตุเป็นผู้เยาว์หรือวิกลจริต ก็ยังต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิด บิดามารดาหรือผู้อนุบาลของบุคคลเช่นว่านี้ย่อมต้องรับผิดร่วมกับเขาด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น”
แนวทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือการเอาใจใส่ดูแลจากพ่อแม่ผู้ปกครอง พาไปสอบใบอนุญาตขับขี่ให้ถูกต้องตามกฎหมายเมื่อถึงวัยอันควร เพราะเมื่อผู้ขับขี่มีอายุถึงวัยอายุ 20 ปีบริบูรณ์นั่นหมายถึงมีความเป็นผู้ใหญ่เพียงพอในการตัดสินใจต่อเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนท้องถนน มีสติสัมปชัญญะในการแก้ไขปัญหา ควบคุมอารมณ์ ได้ และรู้ถึงกฎหมายจราจรเป็นอย่างดีอีกด้วย
อย่างไรก็ตามในการทำใบขับขี่ จะต้องมีการทดสอบสมรรถภาพร่างกาย เข้ารับการอบรม ทดสอบข้อเขียน และทดสอบขับรถ หรือภาคปฏิบัติ อย่างถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของกรมขนส่งทางบก (จองคิวต่อใบขับขี่ออนไลน์ 2564 (2 ปี เป็น 5 ปี) ใช้อะไรบ้าง? ต้องอบรมไหม? https://www.smk.co.th/newsdetail/1686) และเพื่อให้คุณขับขี่ได้อย่างปลอดภัยมากยิ่งขึ้น เลือกทำประกันรถยนต์ตามโปรไฟล์ "การันตีถูกจริง" ประกันรถยนต์ชั้น 1 ..โปรไฟล์ยิ่งดี ความเสี่ยงยิ่งต่ำ เบี้ยยิ่งถูก.. โปรไฟล์คุณอาจดีกว่าที่คุณคิด เบี้ยเริ่มต้น 6,999 บาท และยังถูกลงได้อีก หากเลือกแบบมีดีดัก และระบุชื่อผู้ขับขี่ (ลดสูงสุดเหลือเพียง 3,999 บาท) สนใจรายละเอียด คลิก https://www.smk.co.th/productmotordetail/20 หรือ โทร.1596 Line : @smkinsurance และสามารถติดตามอ่านข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ได้ที่ https://smkinsurance.blogspot.com/