ในวันที่ยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี เป็นเทรนด์ เป็นจุดหมายปลายทางที่ทั้งโลกจะมุ่งไป ชื่อของ EA หรือ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ถูกสปอตไลท์ส่องในฐานะผู้นำของธุรกิจพลังงานสะอาด และผู้เล่นคนสำคัญในระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย
‘เทสลาเมืองไทย’ คือฉายาของ EA ในวันนี้
ขณะที่ สมโภชน์ อาหุนัย ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ถูกขนานนามว่าเป็น ‘อีลอน มัสก์ เมืองไทย’
ถ้าย้อนไปเมื่อสัก 10 กว่าปีก่อน เราอาจจะไม่คุ้นชื่อ และถึงคั้นก็อาจจะไม่ได้คิดว่าบริษัทผลิตไบโอดีเซลจะเติบโตและขยายธุรกิจออกไปมากมายขนาดนี้ แต่ถ้าได้ฟังเรื่องราวของ EA จะเห็นว่าพวกเขาค่อนข้างมั่นใจในทุกก้าวย่างที่เริ่มทำอะไรใหม่ๆ ก่อนคนอื่น
EA เริ่มต้นจากการทำไบโอดีเซลในยุคที่รัฐบาลมีนโยบายผลักดันการนำไบโอดีเซลมาผสมในน้ำมันดีเซล พอเติบโตถึงจุดหนึ่ง ก็มีคู่แข่งเข้ามาเยอะ การแข่งขันสูงขึ้นในขณะที่ตลาดโตเต็มที่จนอิ่มตัวแล้ว
พวกเขาจึงหาทางกระจายความเสี่ยง เริ่มมองหาธุรกิจอื่นที่จะทำให้บริษัทโตขึ้นได้อีก และธุรกิจที่พวกเขามองเห็นคือ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเมื่อทำแล้วเติบโตดี ก็มีคู่แข่งเข้ามาเป็นร้อยราย ทำให้การแข่งขันยากขึ้น
EA ต้องหนีตัวเองเพื่อหาทางเติบโตต่อ โดยการทำโรงไฟฟ้าพลังงานลม ซึ่งเป็นเจ้าแรกๆ ที่ทำในยุคที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐ
ขณะที่กำลังรุ่งโรจน์กับธุรกิจโรงไฟฟ้า EA ก็พบจุดอ่อนว่า โรงไฟฟ้าที่ควรจะเสถียร กลับไม่เสถียร เพราะเมื่อผลิตไฟฟ้าเยอะ ส่งกระแสไฟฟ้าเยอะ ทำให้ระบบสายส่งเริ่มมีปัญหา ส่วนด้านการผลิตก็ไม่สามารถกะเกณฑ์ฝนฟ้าอากาศได้ ซึ่งนั่นจะเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตในระยะยาว EA จึงมองหาสิ่งที่จะมาแก้จุดอ่อนนี้ นั่นก็คือ energy storage หรือ แบตเตอรี่ โดยเข้าไปลงทุนในบริษัท อมิตา (Amita Technologies Inc.) ในไต้หวัน
ระหว่างศึกษาพัฒนาแบตเตอรี่ ก็พบว่าแบตเตอรี่ที่กำลังทำนั้นเป็นส่วนประกอบสำคัญในยานยนต์ไฟฟ้า ที่กำลังเป็นเทรนด์แห่งอนาคต EA จึงทำแบตเตอรี่ทั้งสำหรับใช้กับโรงไฟฟ้าและยานยนต์ไฟฟ้า แล้วก็ไปถึงขั้นผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และทำสถานีชาร์จไฟฟ้า จนปัจจุบันกลายเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจครบทั้งวงจรของห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ไฟฟ้า
นั่นคือเส้นทางการเติบโตของ EA คร่าวๆ ที่ผู้บริหาร EA เล่าให้ฟัง
ขณะที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของเอเชีย EA และอีกหลายๆ บริษัทในระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าก็มองไปยังเป้าหมายเดียวกัน
เป้าหมาย ความฝัน ความหวังนี้ จะเป็นจริงได้อย่างไร ประเทศไทยมีอะไรเป็นจุดเด่นที่ทำให้เรามีโอกาส และมีอะไรเป็นความท้าทาย หรือเป็นจุดอ่อนที่ทำให้เราอาจจะไปไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ ไทยรัฐพลัสชวน อมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA มาพูดคุย ให้ความเห็น และพาเรามองไปยังอนาคตอันไม่ไกลของ EA และประเทศไทย
EA ทำอะไรก็เป็นสิ่งที่ใหม่กว่าตลาดตลอด มีปัญหาความยากในการหาเงินทุนไหม
โดยธรรมชาติเวลาเราทำอะไรที่ใหม่ ซึ่งมันยังไม่มีข้อมูลเชิงสถิติย้อนหลังยาวๆ เพื่อให้ผู้ปล่อยกู้เกิดความมั่นใจ การที่จะไปหาเงินกู้นั้นคุยยากแน่นอนเป็นเรื่องธรรมดา เพราะคนปล่อยกู้เขาไม่แน่ใจว่าตลาดจะเป็นอย่างไร ธุรกิจจะโตไหม เพียงแต่ว่า EA มีฐานธุรกิจเดิมที่ค่อนข้างแข็งแรง เรามีเงินที่เราสร้างได้ในแต่ละปีค่อนข้างเยอะ ซึ่งก็พอจะเป็นฐานทำให้สถาบันการเงินเชื่อในระดับหนึ่ง และกล้าที่จะปล่อยเงินออกมา
แต่ก็ต้องบอกว่า เวลาเราเริ่มอะไรใหม่ เราก็ไม่ได้ต้องการเงินทุนมากนัก อาจจะเป็นหลายร้อยล้านบาท หรืออาจจะแค่พันล้านบาท เพราะฉะนั้นเงินอาจจะยังไม่ได้เป็นจุดที่ทำให้เราเกิดความยากลำบาก แต่แน่นอน มันจะมีจังหวะที่เราต้องขยาย แต่ตลาดยังไม่พัฒนาเร็วพอ สถาบันการเงินอาจจะยังไม่เชื่อมั่นถึงจุดที่เขากล้าปล่อย ฉะนั้นเราต้องมีการวางแผนการเงินกันค่อนข้างดี และใช้เครื่องมือทางการเงินเข้ามาช่วยเพื่อประคองตัวไป รอจนเวลาที่ตลาดพัฒนาและสร้างความเชื่อมั่นให้สถาบันการเงินมากพอ
EA ได้ประโยชน์จากนโยบายต่างๆ ของรัฐ แล้วการที่อิงกับนโยบายภาครัฐมาก มันมีข้อเสียอย่างไรบ้าง
ธุรกิจที่อิงกับนโยบายรัฐ แน่นอนข้อดีของมันคือ พอรัฐประกาศนโยบายออกมา มันสร้างดีมานด์ขึ้นมาทันที โดยที่เราไม่ต้องไปพัฒนาตลาดเอง ประหยัดเวลา แต่ข้อเสียคือมันจะโตอยู่เท่านั้น เช่น นโยบายไบโอดีเซลผสม 10 เปอร์เซ็นต์ มันก็จะมีดีมานด์อยู่เท่านี้ วันนี้เราใช้ดีเซลสักประมาณ 60 ล้านลิตรต่อวัน แปลว่าก็จะมีความต้องการอยู่แค่นั้น เราไม่สามารถโปรโมตเพื่อทำให้ยอดขายไบโอดีเซลเกินวันละ 6 ล้านลิตรได้ มันมีข้อดีและข้อเสีย
รถยนต์ไฟฟ้าก็เหมือนกัน ถ้าเรายึดตัวเลข 30@30 ที่รัฐประกาศ คือภายในปี 2030 รัฐมีเป้าหมายผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 30 เปอร์เซ็นต์ ทุกคนก็มองเป็นโอกาสว่ามันมีดีมานด์อยู่เท่านี้ แต่ข้อดีของรถยนต์ไฟฟ้าก็คือ ยังมีตลาดต่างประเทศ ซึ่งเราสามารถไปทำมาร์เก็ตติง และไปเอามาร์เก็ตแชร์จากประเทศเหล่านั้นได้ ฉะนั้น สิ่งที่ EA ต้องรีบทำในวันนี้คือ พยายามจะมองหาโอกาสและตลาดที่มันเหมาะกับเรา แล้วรีบลงไปพัฒนา
การที่ EA ทำรถยนต์ไฟฟ้าของตัวเอง เห็นโอกาสขนาดไหน หรือมองเป็นโชว์เคส
ตอนแรกเรามองโรงไฟฟ้าเป็นหลัก แต่พอเราเริ่มพัฒนาแบตเตอรี่ เราก็มองเห็นว่าตลาดรถยนต์มันมาเร็วกว่านั้น เราก็เริ่มคิดว่าในระหว่างที่รอให้ตลาดโรงไฟฟ้าพัฒนาไปให้คนยอมรับ เราก็สามารถเอาสินค้าของเราไปพัฒนาให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้าได้ ซึ่งเรามองเห็นโอกาสว่ามันพอมีช่องว่างให้ผู้เล่นเล็กๆ อย่างเราได้แทรกตัวเข้าไป โดยเฉพาะตลาดรถยนต์เชิงพาณิชย์ ซึ่งยังไม่ค่อยมีใครให้ความสนใจมากนัก เรามองเห็นว่าด้วยจุดแข็งของ EA คือเรามีแบตเตอรี่ที่สามารถชาร์จได้เร็ว มันเป็นจุดแข็งที่เหมาะกับรถเชิงพาณิชย์ เพราะรถที่ให้น้ำหนักและให้คุณค่ากับเรื่องการชาร์จเร็วจะเป็นรถเชิงพาณิชย์ที่ต้องวิ่งตลอดเวลา และระยะทางที่วิ่งค่อนข้างเยอะ เพราะฉะนั้นเราก็เลยมองเห็นโอกาสว่า ด้วยองค์ความรู้ที่เรามี ด้วยจุดแข็งของสินค้าของเรา มันน่าจะเหมาะกับตลาดที่เป็นเชิงพาณิชย์
เราก็เริ่มพัฒนาสินค้าของเรา ไม่ว่าจะเป็นรถบัสไฟฟ้า รถบรรทุกไฟฟ้า หรือแม้กระทั่งเรือไฟฟ้า ซึ่งเราต่อยอดทำเรือไฟฟ้าขึ้นมาเพื่อพิสูจน์ในเชิงเทคโนโลยีว่า เรือไฟฟ้าซึ่งใช้แบตเตอรี่เยอะมาก เราก็สามารถทำได้ เป็นที่มาที่เราเริ่มต่อยอดทำเรื่องโรงประกอบยานยนต์ไฟฟ้า ขยายสถานีชาร์จไฟฟ้า เพื่อให้เกิดเป็นระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าที่ครบวงจร วันนี้ EA เป็นเบอร์ 1 เรื่องสถานีชาร์จ เราเป็นคนแรกที่ติดตั้งสถานีชาร์จในประเทศไทย วันนี้ก็เป็นเรื่องดีที่เริ่มมีบริษัทใหญ่ๆ หลายบริษัทกระโดดลงมาในอุตสาหกรรมนี้ เป็นการช่วยกันขยายเน็ตเวิร์กของสถานีชาร์จให้ผู้บริโภคมั่นใจว่า ขับไปที่ไหนก็สามารถหาสถานีชาร์จได้ เดี๋ยวพอเราสามารถทำแอปพลิเคชันที่รวบรวมเน็ตเวิร์กของทุกค่ายมารวมกันได้ มันจะทำให้ผู้บริโภคใช้งานง่ายขึ้น ไม่ว่าจะอยู่จุดไหนก็เสิร์ชหาได้