
Hiso จริง จริ๊ง
สนามบินฮีทโธรว์ของอังกฤษ เปิดใช้เทอร์มินัล 5 โดยมีการใช้ระบบขนส่งด้วยรถยนต์ที่ไม่มีคนขับจำนวน 18 คัน ระหว่างเทอร์มินัลหลักและลานจอดรถ ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร ซึ่งรถยนต์นี้ควบคุมด้วย
คอมพิวเตอร์และระบบเซ็นเซอร์ของรถคันนั้นๆ รถประเภทนี้เรียกว่า "พีอาร์ที"
การใช้การขนส่งส่วนบุคคลด้วยความเร็ว หรือ Personal rapid transport หรือเรียกง่ายๆ ว่า "พีอาร์ที" ถือว่าฮีทโธรว์เป็นผู้บุกเบิกแรก เพื่อเป็นการลดความแออัดของการจราจรด้วยการให้ผู้โดยสารใช้รถยนต์สาธารณะ ส่วนบุคคล แม้ว่าเทคโนโลยีนี้จะคิดค้นกันมาเมื่อกว่า 50 ปีที่แล้ว แต่ "พ็อดคาร์" ซึ่งเป็นชื่อ "พีอาร์ที" ของฮีทโธรว์ เป็นระบบแรกที่นำมาใช้จริง
"พ็อดคาร์" ของฮีทโธรว์มีอยู่ 4 ที่นั่ง และวิ่งไปอัตโนมัติตามที่ระบบส่งข้อมูลมาให้กับรถ นอกจากนี้ ยังมีน้ำหนักเบากว่ารถไฟขนาดเบาหรือ "ไลต์ เรล" และใช้พลัง
งานน้อยกว่ามาก ถ้าโครงการนำร่องนี้เป็นผลสำเร็จ ทางกรมการบินของอังกฤษก็จะมีโครงการขยายการใช้ "พ็อดคาร์" ไปทั่วบริเวณต่างๆ ของสนามบิน
ในการใช้ "พ็อดคาร์" นั้น ไม่ได้มีตารางการออกเดินทางเหมือนอย่างรถไฟหรือรถเมล์ว่า เที่ยวนั้นเที่ยวนี้จะออกกี่โมง แต่ "พ็อดคาร์" เป็นเหมือนกับแท็กซี่ส่วนตัวมากกว่า ผู้โดยสารจะต้องไปรอ "พ็อดคาร์" ตามจุดที่กำหนดไว้ในเทอร์มินัล การรอนั้น ใช้เวลาเพียง 12 วินาที เมื่อขึ้นไปแล้ว "พ็อดคาร์" จะไม่หยุดรับผู้โดยสารระหว่างทาง และผู้โดยสารทุกคนต้องมีที่นั่ง แม้ว่าในชั่วโมงเร่งด่วนก็ตาม เมื่อเข้าไปนั่งใน "พ็อดคาร์" แล้ว ผู้โดยสารจะต้องเลือกจุดหมายปลายทาง โดยความเร็วของรถจะอยู่ประมาณ 20 ไมล์ต่อชั่วโมง
สำหรับแนวความคิดรถ "พีอาร์ที" มีขึ้นตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 19 แต่นายดอน ฟิกเตอร์ ชาวอเมริกัน เป็นบุคคลแรกที่มีความคิดเห็นจริงจังเรื่องรถ "พีอาร์ที" โดยเขาได้เขียนไว้ในหนังสือเรื่อง "Individualized Automated Transit and the City" เมื่อค.ศ. 1964 แต่ความคิดนี้มีพื้นฐานมาจากความคิดของเขาเองในค.ศ. 1953
จากนั้นอังกฤษมีโครงการทำระบบ "พีอาร์ที" ที่เมืองเบอร์มิงแฮมและกรุงลอนดอน พร้อมกับมีโครงการที่ฝรั่งเศส สวีเดน ญี่ปุ่น และสหรัฐ แต่ทั้งหมดประสบกับความล้มเหลว อย่างไรก็ตาม การที่ปัจจุบันโลกประสบปัญหาสิ่งแวดล้อม ทำให้ความคิดเรื่องรถ "พีอาร์ที" กลับมาอีกครั้ง เนื่องจากมันใช้พลังงานเพียงหนึ่งในสี่ต่อผู้โดยสาร 1 คน/ต่อไมล์ และคาดว่า ต่อไปรถ "พีอาร์ที" อาจจะใช้พลังงานที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้เช่น พลังงานแสงอาทิตย์
นายมาร์ติน โลว์สัน อดีตนักวิทยาศาสตร์ด้านยานอวกาศ ผู้ที่เคยทำงานให้กับโครงการยานอพอลโล่ ผู้ออกแบบรถ "พ็อดคาร์" มีความเห็นว่า รถ "พีอาร์ที" เหมาะสำหรับเครือข่ายปิด เช่น สนามบิน มหาวิทยาลัย แต่ก็อาจเป็นไปได้ที่ต่อไปจะขยายระบบไปตามเมืองเล็กๆ จนถึงเมืองใหญ่ อย่างเมืองดาเวนทรี ในนอร์ธแฮมตันเชียร์ มีประชากรอยู่ราว 23,000 คน และอีก 13 ปีข้างหน้าคาดว่าจะเพิ่มเป็น 40,000 คน เนื่องจากรัฐบาลส่งเสริมให้มีการปลูกสร้างโครงการบ้านจัดสรรที่ไม่ไกล จากกรุงลอนดอนนัก และยังมีอีกหลายประเทศในตะวันออกกลาง รวมทั้งฝรั่งเศสที่ต้องการพัฒนาระบบรถ "พีอาร์ที"
นอกจากอังกฤษแล้ว ยังมีอีกหลายประเทศที่กำลังพัฒนาระบบ "พีอาร์ที" กันอยู่ เช่น สวีเดน ซึ่งมี 2 บริษัทเข้าไปแข่งขัน เจ้าแรกคือบริษัท "พอสโก้" ของเกาหลีใต้ เข้าไปวางระบบที่เมืองอัพซาลา ขณะที่บริษัทสกายแค็บของสวีเดนเอง เข้าไปวางระบบที่สนามบินอาร์แลนดา มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงสตอกโฮล์มและเมืองฮอร์ฟอร์ส
นายอาเกะ อารีดัล ผู้ก่อตั้งบริษัทสกายแค็บ กล่าวว่า "พีอาร์ที" ที่วางระบบในปัจจุบันน่าจะประสบความสำเร็จ เพราะระบบเก่าของ "พีอาร์ที" นั้นวางโดยวิศวกร ขณะที่ปัจจุบันสกายแค็บให้การตลาดเป็นตัวชี้ทาง แล้วจึงสร้างรถตามแบบที่ลูกค้าต้องการ ทั้งยังมีความสะดวก ปลอดภัยและเหมาะกับการใช้ชีวิต แต่สิ่งที่ท้าทายที่สุดของระบบ "พีอาร์ที" ไม่ใช่เรื่องเทคโนโลยี เพราะพิสูจน์กันมาแล้วว่า เทคโนโลยีของ "พีอาร์ที" เป็นเทคโนโลยีที่ดี แต่สิ่งที่ท้าทายกลับเป็น การยอมรับของประชาชนว่า จะยอมรับรถแห่งอนาคตนี้และจะใช้มันหรือไม่
ค.ศ. 1953 นายดอน ฟิกเตอร์ นักวางแผนการคมนาคมนครนิวยอร์กเริ่มการวิจัยการขนส่งส่วนบุคคลด้วยความเร็ว หรือ Personal rapid transport (PRT)
ค.ศ. 1967 นายเลน เบลก เจ้าหน้าที่จากบริษัทไฟฟ้าอังกฤษ เริ่มพัฒนารถ "แค็ปแทรก" เพื่อใช้ที่เมืองเบอร์มิงแฮมและลอนดอน แต่โครงการนี้ต้องล้มเลิกไป
ค.ศ. 1967 บริษัทมาตราซึ่งเป็นบริษัทด้านแอโรสเปซ สเนอโครงการอรามิสที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และล้มเลิกโครงการไป
ค.ศ. 1970 ญี่ปุ่นเริ่มทดสอบระบบยานยนต์ที่ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ (CVS) มีรถทั้งสิ้น 84 คัน ความเร็วไม่เกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในช่วงทดลองรับผู้โดยสารมาแล้ว 800,000 คน แต่รัฐบาลต้องล้มเลิกโครงการเนื่องจากความปลอดภัย
ค.ศ. 1975 มีการเริ่มใช้โครงการขนส่งส่วนบุคคลด้วยความเร็วมอร์แกนทาวน์ รัฐเวสต์เวอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างแคมปัส 5 แห่งของมหาวิทยาลัย อย่างไรก็ตาม มีผู้โต้แย้งว่า โครงการนี้ไม่ใช่ "พีอาร์ที" แต่เป็น "ไลต์เรล" เนื่องจากมีน้ำหนักมาก และรถแต่ละคันจุผู้โดยสารหลายคน ปัจจุบันโครงการนี้ยังอยู่และขนส่งผู้โดยสารวันละ 15,000 คน
ค.ศ. 2003 คณะกรรมธิการตรวจสอบรถไฟอังกฤษอนุมัติต้นแบบรถ "พีอาร์ที" เรียกว่ารถ "อัลตร้า"
ค.ศ. 2005 กรมการบินอังกฤษเลือกรถต้นแบบ "อัลตร้า" ให้มาใช้ที่สนามบินฮีทโธรว์ เทอร์มินัล 5 และพัฒนามาเป็น "พ็อดคาร์" คาดว่าจะเริ่มให้บริการในช่วงฤดูร้อนของปีนี้ และสามารถขนส่งผู้โดยสารได้วันละ 11,000 คน