ผู้กำกับการกลุ่มงานตรวจสอบฯ ศตท. แจงว่าอินเทอร์เน็ตก็เหมือนโทรศัพท์ คือมีต้นสายปลายทาง คอมพิวเตอร์ก็มีทั้งรหัสประจำเครื่อง ทั้ง IP address ซึ่งสามารถตรวจสอบได้หมดว่าถูกส่งมาจากแหล่งใด ดังนั้น ที่คิดว่าทำแล้วตำรวจจับไม่ได้ โพสต์ข้อความแล้วลบทิ้งก็ไม่เหลือหลักฐาน ต้องคิดเสียใหม่ให้ดี
หากเป็นสมัยก่อน ก็อาจจะยากในการติดตามสืบหาผู้กระทำผิด แต่หลังจากที่ทางตำรวจมีเครื่องมือคือ พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 โดยเฉพาะในมาตรา 26 และ 27 ที่กำหนดให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต, โอปเรเตอร์, เว็บโฮสติ้ง, แอดมิน, เว็บบอร์ด, บล็อก และบริษัทที่มีเครือข่ายเข้าถึงอินเทอร์เน็ต “ต้องทำการจัดเก็บข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์ หรือ log file ไว้ในฐานข้อมูล 90 วัน การติดตามตรวจสอบก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป” เพราะจะมีข้อมูลทั้งหมดในการใช้งานเก็บไว้เป็นหลักฐาน โดยวันที่ 24 ส.ค. 2551 เป็นวันแรกที่กฎหมายนี้เริ่มมีผลบังคับใช้
“ถ้าเกิดการกระทำผิด เมื่อตรวจสอบผู้ให้บริการแล้วไม่มีข้อมูลผู้ใช้เก็บไว้ จะมีความผิด มีโทษปรับไม่เกิน 5 แสนบาท” นายตำรวจคนเดิม กล่าว ก่อนจะบอกอีกว่ากับความผิดสำหรับผู้ที่กระทำการหมิ่นประมาท “ถ้า เป็นการโพสต์ข้อความ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่ 3 ในประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำผิดฐานหมิ่นประมาท
“ถ้ามีการตัดต่อภาพลามกอนาจารประกอบ ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” เป็นความผิด ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 16 ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลงด้วย วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ถือว่า มีความผิด ผู้กำกับการกลุ่มงานตรวจสอบฯ ศูนย์ตรวจสอบและวิเคราะห์ การกระทำความผิดทางเทคโนโลยี ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่านอกจากการหมิ่นประมาทกันแบบประชาชนทั่วไปแล้ว “จากความขัดแย้งทางการเมืองยามนี้ก็ มีความเป็นไปได้ว่าคดีหรือการกระทำในลักษณะนี้จะมีสูงมากขึ้นกว่าปกติ” ซึ่งบางคนอาจแย้งว่าข้อมูลลักษณะนี้ที่ถูกสาดใส่ในอินเทอร์เน็ตผู้คนจะไม่ค่อยเชื่อถือ แต่ในสังคมข่าวลือนั้นอานุภาพอาจร้ายมากจนเกินกว่าที่คิด ที่ สำคัญแม้ไม่น่าเชื่อถือ แต่ก็อย่าลืมว่าก็มักจะมีคนที่พร้อมจะเชื่ออยู่ไม่ใช่น้อยเลยทีเดียว
“แม้บางคนอาจมองว่าเรื่องนี้ไม่ร้ายแรง แต่การเข้าถึงที่ง่าย การใช้งานที่สามารถดับเบิลก๊อบปี้หลาย ๆ หน และส่งออกไปยังบุคคลปลายทางจำนวนมาก ๆ ได้ด้วยการทำเพียงครั้งเดียว ถ้ามองในแง่ปริมาณ ก็ย่อม อาจจะส่งผลทางอ้อมกระทบกับสังคมได้มากเช่นกัน” พ.ต.อ.ศิริพงษ์ระบุ “หมิ่นประมาทออนไลน์” ทำง่าย ๆ แต่ไม่ควรจะทำ
ขอเน้นย้ำ-เตือนไว้…ว่า “ติดคุกได้ง่าย ๆ” นะ !!!!.