กานต์ ตระกูลฮุน ผู้นำองค์กรสู่ “ความยั่งยืน” 
เครือซิเมนต์ไทย หรือ SCG ในยุคของ กานต์ ตระกูลฮุน สังคมธุรกิจอุตสาหกรรมได้เห็นบทบาทการขับเคลื่อนองค์กรตามทิศทางที่กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า
“ภายในปี 2558 เอสซีจี จะเป็นผู้นำทางธุรกิจอย่างยั่งยืนในอาเซียน ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง เป็นองค์กรที่ได้รับการยอมรับในฐานะองค์กรแห่งนวัตกรรมที่น่าร่วมงานด้วย และเป็นแบบอย่างด้านบรรษัทภิบาล และการพัฒนาอย่างยั่งยืน” นั่นเป็นวิสัยทัศน์เชิงยุทธศาสตร์ที่ชี้นำทิศทางการดำเนินธุรกิจที่ต้องมีคุณภาพ ประสิทธิภาพ และคุณธรรมรองรับพร้อมทั้งได้กำหนดกลยุทธ์ 2 ข้อเพื่อให้บรรลุสู่วิสัยทัศน์ดังกล่าว คือ 1.การขยายงานไปในภูมิภาคอาเซียน 2.การพัฒนาสู่สินค้าและบริการที่เป็น High Value ที่สูงทั้งคุณค่าและมูลค่า
พัฒนา “คน” ให้เป็นกลไกสู่การเติบโต การปฐมนิเทศพนักงานใหม่ของเอสซีจีทุกรุ่นซึ่งใช้ระยะเวลา 1 เดือน “พี่กานต์” ที่ทุกคนในองค์กรเรียกขานจะเป็นครูคนแรกของน้องๆ ทำหน้าที่ถ่ายทอดวิสัยทัศน์ และอุดมการณ์ 4 ในการดำเนินธุรกิจ และในวันสุดท้ายของโปรแกรมพี่กานต์ก็จะมาใช้เวลากับน้องๆ อีกครั้ง เพื่อแบ่งปันประสบการณ์การทำงาน และการใช้ชีวิต รวมถึงเปิดโอกาสให้ทุกคนได้พูดคุยและตอบข้อสงสัยทุกข้อด้วยความเป็นกันเองแบบพี่ๆน้องๆ นอกจากนี้ การอบรมพนักงานในหลักสูตรสำคัญๆ กานต์ ก็จะจัดเวลามาพูดคุยแลกเปลี่ยนทรรศนะกับน้องๆ เอสซีจี พร้อมทั้งเล่าสถานการณ์ทางธุรกิจ ประสบการณ์ทำงาน ไปจนถึงการตอบคำถามในทุกๆเรื่อง
วัฒนธรรมการสร้าง
“คน” เอสซีจี คือ การสร้างคน
“เก่งและดี” อย่างเป็นกระบวนการ ตั้งแต่ขั้นตอนสรรหา ไปจนถึงการพัฒนาศักยภาพ ด้วยหลักสูตรอบรมในทุกระดับชั้น ให้ทุนการศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังให้โอกาสพนักงานให้มีเส้นทางการเติบโตที่ชัดเจนภายในเครือข่ายธุรกิจที่มีอยู่กว่า 200 บริษัท สามารถให้โอกาสพนักงานได้หมุนเวียนสายงานเพื่อการเรียนรู้ได้อย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง
ในฐานะผู้บริหารสูงสุด หรือซีอีโอ กานต์มีการเดินสาย เพื่อพบปะเยี่ยมเยือนกับพนักงานในเครือข่ายธุรกิจที่มีอยู่ทั้งในไทยและในต่างประเทศทุกปี แต่ละแห่งกานต์จะลงไปตรวจเยี่ยมและพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รับฟังข้อเสนอแนะ และปัญหาจากพนักงานทุกระดับ เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไข โดยเฉพาะเรื่องนวัตกรรมทางความคิด และแนวทางปฏิบัติใหม่ๆ ที่สามารถนำไปใช้กับส่วนอื่นๆ เช่น กระบวนช่วยลดต้นทุน การผลิต หรือเวลา ตลอดจนการคิดสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จากการปฏิบัติจริง
สร้างแบรนด์ “เอสซีจี” ให้แข็งแกร่ง การบริหารจัดการแบรนด์ที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญก็คือการเปลี่ยนจาก “เครือซิเมนต์ไทย” เป็น “เอสซีจี” เป็นการเสริมความแกร่งให้แบรนด์ของกลุ่มธุรกิจ โดยใช้ชื่อเรียกนำหน้าด้วย “เอสซีจี” เช่น เอสซีจี ซิเมนต์ เอสซีจี เคมิคอลส์ เอสซีจี เปเปอร์ เอสซีจี ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง และเอสซีจี ดิสทริบิวชั่น จากนั้นก็บริหารจัดการแบรนด์ย่อยของแต่ละกลุ่มธุรกิจ เช่น การรวมแบรนด์คอตโต้ รวมแบรนด์ “ตราช้าง” ซึ่งเป็นแบรนด์สินค้าวัสดุก่อสร้างที่เป็นที่รู้จักกันมานานให้เป็นหนึ่งเดียว
เป้าหมาย ที่เอสซีจีตั้งไว้ คือต้องแข่งขันเพื่อชิงความเป็นผู้นำ โดยเจาะกลุ่มตลาดที่ยังมีโอกาสขยายให้เติบใหญ่ในอาเซียน จึงพัฒนาสินค้า ยกระดับคุณภาพ และมาตรฐานให้สูงขึ้น แล้วใส่นวัตกรรมที่องค์กรมีอยู่ เพื่อสร้างความแตกต่างและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และที่สำคัญ คือ มีแบรนด์ “SCG” เข้าไปทำความรู้จักในตลาดอาเซียน นับเป็นการเปิดตลาดอุตสาหกรรมระดับภูมิภาค ก่อนจะขยายไปสู่ตลาดโลก
ชูนวัตกรรมที่มีมูลค่าเพิ่ม สร้างเทคโนโลยีของตัวเอง กานต์มักบอกกับพนักงาน ว่าไม่เพียงแต่สร้างแบรนด์ “เอสซีจี” ต้องสร้างเทคโนโนโลยีของตัวเอง จึงต้องคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ผลก็คือ เมื่อปี 2547 ที่เอสซีจีตั้งเป้าหมายว่าจะเป็นองค์กรนวัตกรรมนั้น มีสินค้า HVA หรือหมวดที่มีมูลค่าสูงแค่ 4 เปอร์เซ็นต์ของรายได้รวมแต่ปัจจุบัน สัดส่วนสินค้า HVA ได้เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์แล้ว
ต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะผู้นำองค์กรยืนยันการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่มุ่งมั่นสร้างประโยชน์สูงสุดต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ในแต่ละปีลงทุนด้านลิ่งแวดล้อม กว่า 1,000 ล้านบาท นอกจากการสนับสนุนสังคมและชุมชนอีกประมาณปีละกว่า 400 ล้านบาท
การพัฒนาสินค้า แสดงจุดยืนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เอสซีจี อีโคแวลู (SCG Eco Value) เป็นการตอบโจทย์ผู้บริโภคและชี้นำผู้บริโภคว่า นับจากนี้ไปจะต้องมาช่วยกันดูแลโลกด้วยกัน
จากการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development- SD) อย่างจริงจังและต่อเนื่อง ส่งผลให้ SCG ได้รับการประเมินและจัดอันดับในดัชนีวัดประสิทธิผลการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนดาวน์โจนส์ หรือ DJSI ให้เป็นองค์กรชั้นนำระดับ Gold Class ติดต่อกันเป็นปีที่ 4 ตั้งแต่ปี 2551 ถึง 2554 โดยในปีนี้ SCG ยังได้รับการจัดอันดับให้เป็น World Sector Leader โดยมี
คะแนนเป็นอันดับ 1 ของธุรกิจวัสดุก่อสร้างด้วย

