ผลกระทบในทางบวกต่อประเทศไทย (ต่อ)
ประการที่เก้า ประเทศไทยสามารถเกิดการเรียนรู้และการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องธุรกิจ การค้า การท่องเที่ยว กฎหมาย การลงทุน การเงิน รวมทั้งการเรียนรู้ทางการเมือง สภาพสังคมและวัฒนธรรม เทคโนโลยีจากประเทศสมาชิก
ประชาคมอาเซียนได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญอย่างยิ่งของประเทศไทยในขณะนี้คือ การเรียนรู้เรื่องการศึกษา การจัดการธุรกิจ การป้องกันปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น รวมทั้ง กลยุทธ์ กลวิธี ทางการค้า และ Business Model ซึ่งในที่นี้หมายถึงวิธีการหาเงินของประเทศต่างๆว่าเขาได้มาด้วยวิธีใด และนักธุรกิจ ครูอาจารย์ด้านธุรกิจศึกษาและนักเศรษฐศาสตร์หรือผู้ที่เกี่ยวข้องจะได้นำมาพัฒนาให้ดีขึ้น และช่วยให้คุณภาพชีวิตของสังคมไทยดีขึ้นในวันข้างหน้า
กลยุทธ์ที่เหมาะสมคือการฝึกที่จะเป็นผู้เรียน หรือนักเรียนที่ดีที่คอยสังเกต จดจำ บันทึก ปรับปรุง ทดสอบ รวมทั้งเป็นนักฟังที่มีประสิทธิภาพ (Good Listener) เพื่อการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ความรู้เพื่อนำมาปรับปรุงการทำ
งานของเราให้ดีขึ้นไปจากเดิม
ประการที่สิบ การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะทำให้เป็นแรงผลักดันให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง องค์การ หรืออุตสาหกรรมต่างๆต้องรีบปรับตัว ปรับปรุง พัฒนาตัวเองให้ทันต่อวิถีทางการทำงานของคน องค์การ หรืออุตสาหกรรมของประเทศต่างๆในประชาคมอาเซียน อาทิ ครูอาจารย์ วิศวกร แพทย์ พยาบาล นักบัญชี นักสำรวจ ทันตแพทย์ สถาปนิก ต้องมีความรู้มากขึ้นจากเดิม ต้องหาความรู้ที่จะมาปิดจุดอ่อนของเราที่ยังด้อยชาติอื่นๆ อาทิความรู้ด้านภาษาอังกฤษมาเพิ่มเติม ความรู้เดิมๆคงไม่สามารถเอามาใช้เพื่อการแข่งขันได้เหมือนเดิม แต่จะต้องขวนขวายหารูปแบบ และวิธีการใหม่ๆมาใช้ด้วยเช่นกัน นับว่าเป็นโอกาสในการพัฒนา ปรับปรุง หรือแก้ไของค์ความรู้ด้าน เศรษฐศาสตร์ บริหารธุรกิจ การค้าการลงทุน การแพทย์ สถาปัตยกรรม ฯลฯ ให้ทันสมัยและมีความพร้อมมากขึ้นจากเดิม เป็นประโยชน์ต่อวงการศึกษาของไทยในวันข้างหน้า
ประการที่สิบเอ็ด นับเป็นโอกาสของบางสาขาวิชาชีพที่จะไปทำงานในกลุ่มประเทศในประชาคมอาเซียนได้ง่ายขึ้น และนี่อาจเป็นหนทางหนึ่งในการขจัดความยากจนของแรงงานไทยภายในประเทศบางคน เนื่องจากเขาสามารถมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการเคลื่อนย้ายไปทำงานต่างแดน
ดังนั้น กลยุทธ์ที่เหมาะสมก็คือ การเตรียมตัวแต่เนิ่นๆอย่ารอให้วันเวลาผ่านไปพยายามสะสมความรู้ประสบการณ์และทักษะมาเพิ่มเติมให้เกิดคุณค่าในตัวตนให้มากขึ้น การเข้ารับการฝึกอบรมในด้านที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มขีดความสามารถหรือสมรรถนะของตนจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยให้ประสบความสำเร็จในการทำงานและการสร้างรายได้ให้ได้มากขึ้น
ประการที่สิบสอง จากประโยชน์ที่ประเทศไทยจะปรับฐานภาษีให้เท่าเทียมกับประเทศในกลุ่มอาเซียน เพื่อการแข่งขันนั้น จะเท่ากับเป็นการเพิ่มช่องทางการส่งออกของไทยของไทยให้มากขึ้นจากเดิม อันจะทำให้เป็นการหาเงินตราต่างประเทศเข้าไทยได้มากขึ้น ช่วยในการพัฒนาประเทศโดยรวม ในประเด็นสุดท้ายนี้ กลยุทธ์ในด้านการหารายได้มาชดเชยส่วนที่ปรับลดลงไปจากน่าจะเป็นสิ่งที่ภาครัฐจะต้องค้นหาวิธีการ เพราะจากการปรับฐานภาษีให้ลดลงมาจากประมาณ 30% ลงมาให้เหลือ 23% ในปี 2555 และจะให้เหลือ 20% ในปี 2556 และ 2557นั้นรัฐต้องสูญเสียภาษีที่จะนำไปพัฒนาประเทศมากพอสมควร หากไม่คิดหาหนทางที่จะหารายได้มาชดเชยส่วนนี้ รัฐจะลำบากในวันข้างหน้าในการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆไม่ว่าจะเป็นด้านการลงทุนเพื่อสาธารณประโยชน์และระบบสาธารณูปโภคที่ต้องใช้เงินภาษีมาจุนเจือ
บทความประชาคมอาเซียน โดย : รศ.ดร.จุฑา เทียนไทย