บทความพิเศษ: การล้มประมูล3G..ไม่มีใครได้..มีแต่คนเสีย..โดยเฉพาะโอกาสของชาติ...ประชาชน
ขณะที่นักวิชาการและองค์กรเครือข่ายต่างๆ ในบ้านเราออกโรงโจมตีการประมูลเพื่อออกใบอนุญาต 3จี บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ว่า มีการแบ่งเค้กกันระหว่าง 3 บริษัทรายใหญ่ และได้เรียกร้องให้หน่วย
งานต่างๆยื่นมือเข้ามาตรวจสอบการประมูล ส่งผลให้เส้นทางการออกใบอนุญาต 3 จีของ กสทช.ต้องเผชิญกับแรงกดดันจนหลายฝ่ายเริ่มแสดงความกังวล จะทำให้ประเทศไทยต้องลงเอยด้วยการล้มประมูลกลับไปนับ 1 กันใหม่ซ้ำซากหรือไม่นั้น....
Value Partners Management Consulting ที่ปรึกษามืออาชีพระดับโลกได้ออกรายงานบทวิเคราะห์ (http://www.valuepartners.com) ของ โดมินิค อารีน่า กรรมการบริหารของ Value Partnersภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดียภายใต้หัวข้อ “ถึงเวลาหยุดความไม่แน่นอน :การประมูลคลื่น 2.1 GHz ได้ราคาเป็นธรรมและจะสร้างคุณประโยชน์มหาศาลต่อประเทศไทย” (Time to stop the uncertainty : 2.1 GHz auction clearly represents fair value and can deliver massive benefits to Thailand”)
โดยได้กล่าวชื่นชม กสทช. ที่สามารถทำให้ตลาดโทรคมนาคมของไทยมีคลื่นความถี่ใหม่ใช้งาน สนองตอบต่อความต้องการของประชาชนคนไทย ภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรมโทรคมนาคมได้ แม้ว่าในเรื่องของราคาจะยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่า เป็นธรรมสำหรับทุกฝ่ายหรือไม่ แต่ในส่วนของคุณูประโยชน์ของคลื่นดังกล่าวนั้นจะสามารถรังสรรค์การให้บริการอินเตอร์เนตไร้สาย ทั้ง 3 และ 4 จี ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และก่อประโยชน์ทั้งต่อภาคเศรษฐกิจและสังคมอย่างมาก
ในประเด็นเรื่องราคาประมูลต่ำเกินไปทำให้เอกชนได้ประโยชน์บนความเสียหายของภาครัฐ...นั้นในมุมมองของที่ปรึกษามืออาชีพรายนี้... เห็นว่า เป็นข้อกล่าวหาที่รุนแรง ปราศจากข้อมูลเชิงเปรียบเทียบทั้งยังขาดการสื่อสารในอันที่จะชี้ให้เห็นความจำเป็นที่ต้องเดินหน้าพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศ...
ทั้งนี้ หากนำข้อเท็จจริง ข้อมูลที่เป็นมาตรฐานของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมจากทั่วโลกมาวิเคราะห์สิ่งที่ประเทศไทยดำเนินการไป จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าผลการประมูลคลื่น 2.1 GHz ของ กสทช.ที่ออกมานั้นควรจะได้รับการยอมรับโดยปราศจากข้อโต้แย้งใดๆ เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับมาตรฐานการออกใบอนุญาตของประเทศต่างๆ ทั่วโลกแล้ว ไม่ได้แตกต่างไปจากอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของโลกแม้แต่น้อย
มูลค่าคลื่นที่ประเทศไทยได้รับ 41,625 ล้านบาท จาก 45 MHz เมื่อนำมาเปรียบเทียบประเทศอื่นๆ แล้ว ราคาประมูลของไทยอยู่ที่ 0.47 เหรียญสหรัฐต่อ MHz ต่อประชากร สูงกว่าอีกหลายประเทศที่มีรายได้ต่อหัวสูงกว่า อาทิ สิงคโปร์ เยอรมนี และเกาหลีใต้ และยังเป็นราคาที่สูงมากกว่า 3 เท่าตัว เมื่อเทียบกับราคาประมูลในประเทศกำลังพัฒนาที่อยู่ในระดับเดียวกัน เช่น อินโดนีเซีย และเม็กซิโก
ในบทวิเคราะห์ของ Value Partners ยังได้ยกตัวอย่างประเทศอังกฤษและยุโรปที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จ่ายค่าคลื่นความถี่ 2.1 GHz สูงเกินไปเมื่อประมาณ 10 ปีก่อนผลก็คือทำให้ บริติช เทเลคอม (BT) ต้องขายธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ในต่างประเทศทั้งหมด เนื่องจากมีหนี้สินจากการที่ต้องจ่ายค่าคลื่นสูงเพื่อเลี่ยงการล้มละลาย
กรณีของผู้ที่ไม่เห็นด้วยอ้างราคาประมูลที่เหมาะสมน่าจะอยู่ที่ 60,000 ล้านบาทหรืออยู่ในระดับ 0.65 เหรียญสหรัฐต่อ MHzต่อประชากร แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่ออกมาโจมตีนั้นขาดข้อมูลที่เป็นมาตรฐานเปรียบเทียบอย่างเห็นได้ชัด เพราะราคาที่ประมูลได้ในเวลานี้ประเทศไทยก็อยู่ในระดับที่สูง ประเทศที่มีความเจริญสูงกว่าไทยอย่างเกาหลีใต้ สิงคโปร์ และเบลเยียมอยู่แล้ว และหากจะพิจารณาตลาดโทรคมนาคมในต่างแดนไม่ว่าจะเบลเยียมและอินเดียในเวลานี้ที่มีราคาคลื่นสูงกว่าไทย แต่ผู้ประกอบการในทั้งสองประเทศต่างอยู่ในสภาวะที่แทบจะไม่สามารถให้บริการ 3จีได้ เพราะไม่สามารถจะทำกำไรในการประกอบการได้จนส่งผลถึงการขยายการให้บริการ...
ในบทวิเคราะห์นี้ ยังได้กล่าวถึงการให้บริการโทรคมนาคม
มือถือในประเทศไทยที่ผู้ให้บริการต่างมีขีดจำกัดในเรื่องของคลื่นความถี่ที่จะนำมาให้บริการเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนที่ต้องการใช้บริการข้อมูลความเร็วสูง โดยเฉพาะอินเตอร์เนตแบบไร้สาย ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเจียดคลื่นที่มีอยู่อย่างจำกัดเดิมออกมาใช้และจำเป็นต้องลงทุนสูงในการติดตั้งเครือข่ายรองรับบริการที่เพิ่มขึ้น ซึ่งไม่เพียงจะทำให้ประชาชนต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น คุณภาพที่ได้รับยังลดต่ำลงไปด้วย การมีคลื่น 2.1 GHz จึงไม่เพียงจะทำให้ผู้ให้บริการสามารถให้บริการ 3จี และ 4จีเท่านั้น แต่ยังมีแนวโน้มที่ผู้ประกอบการจะพัฒนาโครงข่ายเดิมของตนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อรองรับการให้บริการทั้ง 2จี 3จี และ 4จี ในอนาคตด้วย
ส่วนระบบสัมปทานในปัจจุบันของไทยนั้น มีส่วนทำให้ประชานผู้ใช้บริการต้องเสียค่าบริการในอัตราที่สูงและกล่าวได้ว่า
ปัจจุบันไทยมีต้นทุนในการกำกับดูแลให้บริการสูงที่สุดในโลกก็ว่าได้ และค่าบริการในระบบสัมปทานนั้นยังคงสูงกว่าระบบบการให้ใบอนุญาตถึง 5 เท่าตัว ซึ่งหากในอนาคตระบบการจัดสรรคลื่นเหล่านี้ถูกปรับเปลี่ยนมาเป็นระบบออกใบอนุญาตค่าบริการเหล่านี้จะต้องต่ำลง
ส่วนประเด็นในเรื่องของการแข่งขันนั้น ปัจจุบันผู้ประกอบการโทรคมนาคม 3 ค่ายหลักในเมืองไทย มีส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 95% จึงเป็นเรื่องยากที่ผู้ให้บริการจากต่างประเทศจะก้าวเข้ามา ดังนั้นการที่มีเพียง 3 ค่ายเดิมเข้าร่วมประมูลจึงไม่ใช่เรื่องแปลกในประเทศอื่นๆ ทั่วโลกต่างก็เป็นไปในลักษณะเดียวกัน เช่น สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ เหตุนี้ บทบาทของหน่วยงานกำกับดูแลจึงต้องทำให้การจัดสรรคลื่นความถี่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ในราคาที่เป็นธรรม การกำหนดราคาเริ่มต้นประมูลที่เป็นธรรมนั้น
ไม่จำเป็นจะต้องนำหลักเกณฑ์ประมูลแบบ “N-1” มาใช้เพราะกฎนี้จะนำมาซึ่งมีผู้ให้บริการ 1 ราย ที่ได้คลื่นความถี่น้อยกว่าคู่แข่ง
ทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง
ประเด็นต่างๆ ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ น่าจะเป็นข้อมูลที่ทำให้ความไม่แน่นอนของการประมูล 3 จีนี้ควรถึงเวลาสิ้นสุดลง.... เพราะหากยังคงไม่สามารถแก้ไขความไม่แน่นอนดังกล่าวลงไปได้จะยังความเสียหายใหญ่หลวงต่อประเทศไทยทั้งด้านเศรษฐกิจ และสังคม ประโยชน์เพียงประการเดียวที่จะเกิดขึ้นจากการประมูลนั้นก็คือ ประโยชน์สำหรับประชาชนคนไทยทุกคน
credit:http://www.naewna.com 27 ตุลาคม ๒๕๕