นอกจากนี้ ยังมีคำเรียก “คนเป่านกหวีด” (Whistleblower) ขึ้น เพื่อใช้เรียกคนภายในองค์กร ซึ่งนำเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ผิดกฎหมาย รวมถึงการทุจริต คอร์รัปชั่นขององค์กรนั้น ๆ มาเปิดโปงสู่สาธารณะ เพื่อรักษาผลประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ ซึ่งที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์โลกก็ได้มีการจารึกถึงเหตุการณ์ที่คนเป่านกหวีดออกมาเปิดโปงการกระทำอันมิชอบเหล่านี้มาหลายครั้งแล้วดังเช่นบุคคลต่อไปนี้
เชลซี แมนนิง (Chelsea Manning) หรือ สิบตรี แบรดลีย์ แมนนิง (Bradley Manning) อดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองของกองทัพสหรัฐฯ ถูกจับกุมในเดือนพฤษภาคม 2553 ในประเทศอิรัก จากการลักลอบส่งเอกสารข้อมูลลับทางทหารและการทูตกว่า 700,000 รายการ ให้แก่นายจูเลียน อัสซันจ์ (Julian Assange) ซึ่งเอาไปเปิดโปงผ่านเว็บไซต์ Wikileaks เนื่องจากต้องการเผยให้เห็นความโหด***มของกองทัพสหรัฐฯ ที่ปฏิบัติอย่างไม่ใยดีต่อชีวิตมนุษย์ในอิรักและอัฟกานิสถาน ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2556 ศาลก็ได้พิพากษาโทษจำคุก 35 ปี รอลงอาญา 8 ปี สำหรับความผิดฐานทำให้ข้อมูลลับรั่วไหลสู่สาธารณะ และได้ถูกจำคุกในเดือนกันยายน 2556 พร้อมถูกปลดประจำการจากกองทัพสหรัฐฯ
เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน (Edward Snowden) อดีตลูกจ้างสำนักข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (CIA) ได้ออกมาแฉข้อมูลลับเกี่ยวกับโปรแกรมสอดแนมข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต ในปี 2555 รวมทั้งต่อมาในปี 2556 ก็ได้เปิดโปงว่าสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ (NSA) สังกัดรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ลอบดักฟังโทรศัพท์ รวมถึงจารกรรมข้อมูลจากระบบจัดเก็บเอกสาร พร้อมบัญชีผู้ใช้และรหัสผ่านอีเมลของเจ้าหน้าที่ระดับสูงประจำสถานเอกอัครราชทูต 38 แห่งในกรุงวอชิงตัน ซึ่งประกอบไปด้วยฝรั่งเศส อิตาลี กรีซ ตุรกี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เม็กซิโก และอินเดีย เมื่อช่วงปี 2553 ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของคนทั้งโลก เป็นเรื่องควรแก่การประณามอย่างยิ่ง และนั่นทำให้ เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน กลายบุคคลที่รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังต้องการตัวอย่างยิ่งในฐานะคนทรยศ ขณะที่นักต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและปกป้องสิทธิมนุษยชนยกให้เขาเป็นวีรบุรุษ