AIDS Healthcare Foundation เผยเป้าหมาย 20x20 เพื่อรักษาผู้ป่วยเอดส์ให้ได้ 20 ล้านคนภายในปี 2020
ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามระดับโลกรูปแบบใหม่ในการเพิ่มจำนวนผู้ที่ได้รับการรักษาโรคเอดส์ คณะผู้แทนจากสำนักงานของ AIDS Healthcare Foundation (AHF) ในเอเชียและสหรัฐอเมริกาจะเปิดงานแถลงข่าวใน Media Centre ที่การประชุมสมัชชานานาชาติเรื่องเอดส์ ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 11 ในวันพุธที่ 20 พฤศจิกายน เวลา 16.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น เพื่ออภิปรายเกี่ยวกับความสำเร็จและความท้าทายต่างๆในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ในภูมิภาค การประชุมครั้งนี้จะเป็นเวทีสำหรับการเปิดเผยโครงการริเริ่ม 20x20 โดยมีเป้าหมายเพื่อให้การรักษาผู้ป่วยโรคเอดส์ด้วยยาต้านไวรัสเอชไอวี/เอดส์ ให้ได้ 20 ล้านคน ภายในปีค.ศ.2020
อะไร: งานแถลงข่าวแนะนำแคมเปญ ‘20 x 20’ เพื่อให้การรักษาผู้ป่วยโรคเอดส์ให้ได้ 20 ล้านคนทั่วโลก ภายในปี 2020
เมื่อไหร่: 20 พฤศจิกายน เวลา 16.00 น. ที่กรุงเทพมหานคร
ที่ไหน: Media Centre ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ระหว่างการประชุมสมัชชานานาชาติเรื่องเอดส์ ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 11
ใคร: Loretta Wong (ผู้ดำเนินการอภิปราย) Chief of Global Partnerships & Advocacy for AHF
- Dr. Chhim Sarath, AHF’s Asia Bureau Chief, AHF Cambodia Cares อภิปรายในหัวข้อ HIV/AIDS in Asia
- Terri Ford, Chief of Global Advocacy & Policy for AHF แนะนำโครงการ ‘20x20’ ร่วมกับ Mr. Nazarov
- Denys Nazarov, Associate Director of Global Policy for AHF
สถานการณ์ในแต่ละประเทศ – อภิปราย 3 ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับเอดส์ในแต่ละประเทศ
- กัมพูชา - Kim Heang, UNG, AHF Country Program Manager ประจำประเทศกัมพูชา
- จีน - Yugang Bao, AHFCountry Program Consultant ประจำประเทศจีน
- อินเดีย - Nochiketa Mahonty, MBBS, MPH, MBA, AHF Country Program Manager ประจำประเทศอินเดีย
- เนปาล - Nur Pant, AHF Country Program Manager ประจำประเทศเนปาล
การแพร่กระจายของโรคเอดส์ยังคงเป็นปัญหารุนแรงสำหรับหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ซึ่งมีผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์เป็นจำนวนเกือบ 5 ล้านราย ทั้งนี้ กัมพูชาเป็นตัวอย่างที่โดดเด่นที่สุดในเรื่องความก้าวหน้าในการเข้าถึงการรักษาอย่างทั่วถึง (Universal Access) ผ่านความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมระหว่างรัฐบาลและ AHF โดย AHF ได้ให้การสนับสนุนสถานพยาบาลที่ให้การรักษาด้วยยาต้านไวรัส (ART) ถึง 28 แห่ง จากจำนวนทั้งหมด 61 แห่งในกัมพูชา ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 45%
อย่างไรก็ตาม ขณะที่กัมพูชาประสบความสำเร็จในการนำแนวทาง ART ไปปฏิบัติจริงในภูมิภาค นโยบายทดสอบในหลายประเทศในเอเชีย เช่น อินเดีย กลับยังคงล้าหลังเมื่อเทียบกับมาตรฐานสากล โดยภายใต้การกำกับดูแลในปัจจุบันนั้น องค์การควบคุมโรคเอดส์แห่งชาติ (NACO) ของอินเดียได้กำหนดให้ใช้การทดสอบเซรุ่มพร้อมกัน 3 ชนิด เพื่อประกอบการวินิจฉัยเชื้อเอชไอวีอย่างเป็นทางการ ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เสนอแนะให้ใช้การตรวจเลือดแบบรู้ผลเร็ว หรือ rapid testing ติดต่อกันเพียง 2 ครั้งเท่านั้น หากผลตรวจเลือดรอบแรกออกมาเป็นบวก และอาจมีการตรวจเลือดครั้งที่สาม หากผลตรวจเลือดสองรอบแรกไม่ตรงกัน
“ความจริงคือ อินเดียมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีบวกที่ไม่ได้มีการรายงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งบุคคลเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาที่จำเป็นได้ เนื่องจากพวกเขาไม่ตระหนักถึงสุขภาพของตน อันเป็นผลจากนโยบายการทดสอบดังกล่าว” Terri Ford, AHF Chief of Global Advocacy and Policy กล่าว “ทรัพยากรที่มีค่ากำลังถูกผลาญไปกับการทดสอบอันฟุ่มเฟือย และบ่อยครั้งที่ไม่รู้ผลในวันเดียวกับที่ตรวจ ซึ่งหมายความว่าประชาชนจำนวนมากจะไม่ได้เข้าสู่ระบบการรักษา เพราะพวกเขาไม่กลับไปฟังผล ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีทางที่ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีมากที่สุดเป็นอันดับสามของโลกอย่างอินเดียจะสามารถดำเนินโครงการเอชไอวี/เอดส์ที่มีประสิทธิภาพได้”
สำหรับในประเทศจีน ด้วยการสนับสนุนจาก AHF จึงก่อให้เกิดความก้าวหน้าเป็นอย่างมากในบรรดาโครงการนำร่องเพื่อนำรูปแบบการตรวจเลือดแบบ rapid testing ไปดำเนินการปฏิบัติ ดังเช่นที่กำลังดำเนินการอยู่ที่โรงพยาบาล Beijing Youan Hospital อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาในระดับประเทศ นโยบายการตรวจเลือดแบบ rapid testing ยังจำเป็นต้องมีการปรับปรุงเพื่อให้สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
เพียงแค่รัฐบาล องค์กร NGO และหน่วยงานระหว่างประเทศ ร่วมมือกันเพื่อยกระดับการเข้าถึงการตรวจและการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี ก็ช่วยรับรองได้ว่าเราจะสามารถบรรลุเป้าหมายการควบคุมโรคเอดส์ทั่วโลก (Global AIDS Control) ได้อย่างแน่นอน และเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายดังกล่าว AHF เตรียมเปิดตัวแคมเปญ ‘20 by 20’ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้การรักษาผู้ป่วยโรคเอดส์ด้วยยาต้านไวรัส (ART) ให้ได้ 20 ล้านคน ภายในปีค.ศ.2020
“ผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ 24 ล้านคนจากจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมด 34 ล้านคนทั่วโลก ยังไม่สามารถเข้าถึงการรักษาโรคเอดส์ได้” Dr. Chhim Sarath, AHF Asia Bureau Chief ประจำกัมพูชา กล่าว “แม้ว่าจะมีการตัดงบประมาณ แต่ก็มีการอัดเม็ดเงินหลายพันล้านดอลลาร์เพื่อต่อสู้กับโรคเอดส์ โดยทรัพยากรดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับการจัดอันดับความสำคัญเสียใหม่ ในแง่ของการตรวจและรักษา เพื่อให้ทุกๆดอลลาร์ที่ใช้ไปนั้นสามารถนำทางให้เราก้าวสู่เป้าหมายการให้การรักษาแก่ผู้ติดเชื้อได้อย่างน้อย 20 ล้านคน ภายในปี 2020”
AHF มีแผนประชาสัมพันธ์แคมเปญรักษาโรคเอดส์ ‘20x20’ ด้วยป้ายโฆษณา ‘20x20’ ในเม็กซิโก ยูเครน เนปาล และแอฟริกาใต้ นอกจากนี้จะมีการจัดงาน ‘20x20’ เป็นครั้งแรกที่ประเทศแอฟริกาใต้ ในวันที่ 26 พฤศจิกายนนี้
ในปี 2551 AHF ได้ดำเนินความพยายามเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการรักษาผู้ติดเชื้อเป็นจำนวน 10 ล้านคนภายในปี 2013 ระหว่างการประชุมเอดส์โลก (International AIDS Conference) ในกรุงเม็กซิโก ซิตี้ ซึ่งสามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวไปได้ด้วยดี
“เราเชื่อว่าการบรรลุเป้าหมายอีก 10 ล้านคนภายในปี 2020 น่าจะง่ายขึ้น แม้ว่าจะเป็นเป้าหมายที่ท้าทาย แต่ก็สามารถบรรลุได้อย่างแน่นอน” Ms. Ford กล่าว “และนี่ยังเป็นเรื่องความเป็นความตายของประชาชนหลายล้านคน”