สื่อเทศฟันธง 'ม็อบสุเทพ' ล้ำเส้นปชต.
ไฟแนนเชียลไทมส์ชี้ 'สภาประชาชน' ขัดประชาธิปไตย ข้อโจมตีพรรคทักษิณซื้อเสียงเข้าสู่อำนาจฟังไม่ขึ้น 'มวลมหาประชาชน' ไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่ คาดหากใช้ตุลาการภิวัตน์อีก วิกฤตในไทย จบไม่สวยแน่นอน
เว็บไซต์ของไฟแนนเชียลไทมส์ หนังสือพิมพ์อันทรงอิทธิพลในวงการระหว่างประเทศ ซึ่งมีฐานในประเทศอังกฤษ ได้เผยแพร่บทรายงานในรูปคำถาม-คำตอบ เขียนโดยผู้สื่อข่าวในกรุงเทพ Michael Peel ในชื่อเรื่อง "Q&A : Thailand elections : what does the opposition want?" เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2556
รายงาน "ถาม-ตอบ : การเลือกตั้งในไทย : พรรคฝ่ายค้านต้องการอะไร?" ชิ้นนี้ ระบุว่า แกนนำผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาล ปฏิเสธการเลือกตั้งที่นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประกาศเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา บรรดาผู้ประท้วงและพรรคประชาธิปัตย์ต้องการให้มีสภาประชาชนของ "คนดี" ซึ่งมาจากการแต่งตั้ง แทนที่รัฐบาลจากการเลือกตั้ง ผู้สังเกตการณ์อิสระและผู้สนับสนุนยิ่งลักษณ์ เห็นว่า ข้อเรียกร้องนี้ ไม่เป็นประชาธิปไตย
ฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ซึ่งประกอบด้วยชนชั้นนำในเขตเมืองและพันธมิตรในภาคใต้ของประเทศ โจมตีว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพันธมิตรของเขา ซื้อเสียง แต่บรรดาผู้สังเกตการณ์ อาทิ Asian Network for Free Elections ลงความเห็นว่า การเลือกตั้งเมื่อปี 2554 เป็นไปโดยเสรีและยุติธรรม
นอกจากนี้ พรรคเพื่อไทยของยิ่งลักษณ์ กวาดคะแนนเสียง 15.7 ล้าน ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ 11.4 ล้าน นับว่าเป็นชัยชนะที่ขาดลอย
ต่อคำถามที่ว่า ฝ่ายผู้ต่อต้านรัฐบาลได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนหรือไม่ รายงานชี้ว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำการประท้วง อดีตรองนายกรัฐมนตรี อ้างว่าขบวนการของเขาเป็น 'มวลมหาประชาชน' โดยบอกว่า คนที่ออกมาประท้วง 1 คน มีครอบครัวสนับสนุนอยู่ที่บ้าน 10-15 คน
รายงานบอกว่า ต่อให้เป็นเช่นนั้นจริง ผู้ชุมนุมที่ออกสู่ท้องถนนมีประมาณ 200,000 คน ดังนั้น ผู้สนับสนุนการเคลื่อนไหวก็จะมีมากที่สุดราว 3 ล้านคน แม้ประชาชน 3 ล้านคนนับว่ามาก แต่ก็ยังห่างไกลจากความเป็นเสียงข้างมากในประเทศที่มีประชากร 65 ล้านคนแห่งนี้
ผู้เขียน ไมเคิล พีล บอกว่า คนที่ออกมาขับไล่รัฐบาลนั้น ไม่ได้เป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน แต่เป็นการมารวมตัวอย่างหลวมๆ บางส่วนไม่ได้ให้ความเชื่อถือต่อนายสุเทพเสียด้วยซ้ำ หากแต่ออกสู่ท้องถนนเพราะเห็นว่าเขาเป็นวิถีทางเดียวที่จะแสดงความไม่พอใจต่อรัฐบาล
"นายสุเทพกำลังแสวงประโยชน์จากอารมณ์ ไม่ใช่อุดมการณ์ หรือแรงสนับสนุนต่อตัวเขา" พีลกล่าว
@ ผู้ประท้วงโห่ร้องต้อนรับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในที่ชุมนุมใกล้ทำเนียบรัฐบาล เมื่อ 10 ธันวาคม 2556
แม้กระนั้น ผู้เขียนบอกว่า ทักษิณและยิ่งลักษณ์ก็ถูกตั้งคำถามในหลายเรื่อง เช่น โครงการรับจำนำข้าว, สงครามปราบยาเสพติด และกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งจะลบล้างข้อกล่าวหาของบรรดานักการเมืองระดับสูง รวมถึงทักษิณ และเปิดทางให้เขากลับบ้าน
ต่อประเด็นที่ว่า การเผชิญหน้าคุมเชิงทางการเมือง จะยังคงมีไปจนถึงการเลือกตั้งหรือไม่ รายงานบอกว่า อาจกินเวลานานกว่านั้นอีก โดยเฉพาะหากพรรคฝ่ายค้านบอยคอตการเลือกตั้ง อย่างที่เคยทำเมื่อปี 2549 อย่างไรก็ดี ก่อนถึงวันเลือกตั้ง อะไรก็เกิดขึ้นได้ เช่น ยิ่งลักษณ์ลาออก, ผู้ประท้วงหวนกลับมาก่อเหตุรุนแรงอีกรอบ, หรืออำนาจนอกระบบเข้าแทรกแซง ดังกรณีรัฐประหารเมื่อปี 2549 หรือกรณีศาลล้มรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช เมื่อสองปีก่อน
รายงานปิดท้ายว่า น้อยคนจะคาดเดาสถานการณ์ได้ แต่ที่แน่ๆ ถ้ามีการแทรกแซงเหล่านี้ ยากที่จะได้เห็นฉากจบสวยงามแบบแฮปปี เอ็นดิง.
ที่มา : Financial Times
ภาพ : AFP
by sathitm