ไม่มีขีดจำกัดใต้ขอบฟ้ากว้าง เช่นเดียวกับการเกิดผลกระทบของสภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นจากการละลายของน้ำแข็งที่อาร์กติก ก็ไม่ได้ส่งผลแต่ในเฉพาะภูมิภาคอาร์กติก แต่ทุกชีวิตบนโลกล้วนได้รับผลกระทบไม่ว่าจะอยู่ไกลแค่ไหน

ล่าสุด ผลสำรวจของกรีนพีซจาก 30 ประเทศทั่วโลก ได้เผยออกมาว่า ร้อยละ 74 หรือกว่าสามในสี่ต่างมีความคิดเห็นตรงกันว่า เห็นด้วย หรือเห็นด้วยอย่างมากว่าผู้กำหนดนโยบายระดับสูงของโลกควรกำหนดให้อาร์กติกเป็นเขตคุ้มครองธรรมชาติของโลกเพื่อคุ้มครองสรรพสัตว์รวมถึงสัตว์น้ำต่างๆ ในขั้วโลกเหนือ ซึ่ง ผลจากประเทศไทย เองก็สูงถึงร้อยละ 76 เลยทีเดียว โดยในจำนวนร้อยละ 71 จากทั่วโลกนั้น ผลเผยว่า เห็นด้วยที่มหาสมุทรอาร์กติกควรปลอดจากการขุดเจาะน้ำมัน และอุตสาหกรรมแบบทำลายล้างอื่นๆ
ประเทศไทยเองก็ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเช่นกัน และในวันนี้ป้ายข้อความ “Save the Arctic. 100% Renewable Energy” (ปกป้องอาร์กติก ใช้พลังงานหมุนเวียนเต็มร้อย) ได้ปรากฏขึ้นบนตึกแห่งหนึ่งริมแม่น้ำเจ้าพระยา ใครที่ผ่านไปผ่านมาในบริเวณนั้นคงได้พบเห็นป้ายขนาดมหึมานี้ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในอาร์กติกไม่ได้อยู่แค่เพียงในอาร์กติก ถึงเวลาแล้วที่เราต้องลุกขึ้นมาปกป้องอาร์กติก และทุกสรรพชีวิตที่พึ่งพาความอุดมสมบูรณ์ของภูมิภาคอาร์กติกอย่างแท้จริง ด้วยเหตุผลนี้เอง นักกิจกรรมกรีนพีซทั่วโลกรวมถึงที่ประเทศไทยจึงมารวมตัวกันและเรียกร้องให้ผู้คนหันมาลงมือปกป้องอาร์กติก และหยุดยั้งวิกฤตโลกร้อน
ไม่ใช่แต่เพียงประเทศไทยเท่านั้น แต่ประชาชนจากหลายประเทศทั่วโลกก็ต่างลุกขึ้นเรียกร้อง ร่วมกันประสานเสียงว่าโลกของเราต้องการกำหนดให้อาร์กติกเป็นเขตคุ้มครองธรรมชาติของโลก ร่วมกันกับนักกิจกรรมและอาสาสมัครกรีนพีซที่ต่างปีนขึ้นภูผาและดาดฟ้าตึก พร้อมกับป้ายผ้าที่เขียนว่า “ Save the Arctic ”
“ ‘เมื่อธรรมชาติล่มสลาย มีเงินก็อยู่ไม่ได้’ เป็นประโยคที่กรีนพีซใช้ และสร้างแรงบันดาลใจให้เราเสมอมา เราคิดว่าเพราะทุกอย่างบนโลกนี้เชื่อมโยงกัน ไม่ว่าจะอยู่ที่ประเทศไทยหรือที่อาร์กติก เรื่องของสิ่งแวดล้อมนั้นส่งผลกระทบกับคนทั่วโลก” หนึ่งในห้านักกิจกรรมกรีนพีซประเทศไทยกล่าวถึงแรงบันดาลใจที่มาร่วมกิจกรรมรณรงค์ในครั้งนี้
การดำรงอยู่ของพวกเราล้วนเกี่ยวข้องกับอาร์กติก นอกเหนือจากจะเป็นบ้านของสัตว์นานาสายพันธุ์แล้ว ภูมิภาคนี้ยังมีบทบาทในการรักษาสภาพภูมิอากาศของโลก โดยทำหน้าที่เป็นเสมือนตู้เย็นของโลกคอยรักษาระดับความเย็นของโลกทั้งใบไว้ น้ำแข็งของอาร์กติกทำหน้าที่เป็นเสมือนกระจกบานใหญ่ที่สะท้อนแสงอาทิตย์และความร้อนกลับไปยังชั้นบรรยากาศ นอกจากนี้ อาร์กติกยังรักษาสมดุลของสภาพภูมิอากาศ และน้ำทะเลด้วย
ถึงแม้จะอยู่ห่างออกไปอีกซีกโลก หากปราศจากน้ำแข็งที่อาร์กติกแล้ว ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเลวร้ายจนไม่สามารถหยุดยั้งได้
ถึงจะมีผลกระทบที่ร้ายแรงต่อโลก แต่ สภาอาร์กติก (Arctic Council) กลับมีมติอนุมัติให้กลุ่มผู้กำหนดนโยบายระดับสูงของโลกสามารถทำอุตสาหกรรมที่อาร์กติกได้ ซึ่งค้านกับเสียงของประชาชนทั่วโลกที่ไม่ต้องการเห็นอาร์กติกถูกทำลาย ขณะที่น้ำแข็งอาร์กติกกำลังละลายอยู่นี้ กลุ่มรัฐบาลอาร์กติกกลับไม่ตระหนักถึงมหันตภัยที่จะเกิด แต่ฉวยผลประโยชน์จากการที่น้ำแข็งละลายทำธุรกิจน้ำมัน มองข้ามสัญญาณเตือนภัยแห่งหายนะครั้งใหญ่ของมวลมนุษยชาติและสรรพชีวิต และเดินหน้าขุดเจาะน้ำมันอันเป็นต้นเหตุของการละลายของน้ำแข็งตั้งแต่แรกเริ่ม

ดังที่นักกิจกรรมกรีนพีซประเทศไทยอีกคนกล่าวที่มาร่วมรณรงค์ในครั้งนี้กล่าวไว้ “เพราะว่าอาร์กติกไม่ได้มีแค่หมีขั้วโลก หรือว่าแค่หิมะ น้ำแข็ง แต่อาร์กติกมีความสำคัญกับโลกมากมาย ปกป้องอาร์กติกก็คือปกป้องบ้านของเรา เราจะไม่ยอมนิ่งดูดาย ดูบ้านของเราถูกทำลาย”
ยังไม่สาย ตอนนี้มหาสมุทรอาร์กติกกลางยังไม่ถูกทำลาย และรัฐบาลสามารถร่วมมือกันสร้างเขตคุ้มครองธรรมชาติของโลก เพื่อปกป้องอาร์กติกให้เป็นแหล่งอนุรักษ์ทางทะเล ปราศจากการขุดเจาะน้ำมัน อุตสาหกรรมการประมง กิจกรรมทางการทหาร และกำหนดข้อจำกัดการแล่นผ่านของเรือ ซึ่งอาณาเขตของเขตคุ้มครองธรรมชาติแห่งนี้จะครอบคลุมน่านน้ำสากล บนพื้นที่กว่า 200 ไมล์ทะเล นับจากชายฝั่งทะเลของประเทศที่ติดชายฝั่งมหาสมุทรอาร์กติก บริเวณเขตเศรษฐกิจจำเพาะ
ถึงอาร์กติกจะอยู่ห่างไกลเพียงใด แต่ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นก็ส่งผลให้เห็นในประเทศไทย ไม่เว้นแม้แต่กรุงเทพฯ เอง ในวันนี้นักกิจกรรมกรีนพีซมาแขวนป้ายใกล้กับบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำสายสำคัญที่หล่อเลี้ยงพื้นที่เกษตร และเป็นแหล่งอาหารของประชากรของประเทศ โดยเฉพาะในบริเวณชายฝั่งของกรุงเทพฯ ที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นนั้น อยู่เหนือระดับน้ำทะเลเพียง 1 เมตร เสี่ยงต่อการรุกมาของน้ำเค็ม ซึ่งจะเป็นผลร้ายต่อพื้นที่เกษตรกรรม และเสี่ยงต่อความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำล้นตลิ่งและอุทกภัยที่อาจจะตามมา ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนจะลุกขึ้นมาเปล่งเสียงให้สุดแรง และปกป้องอาร์กติกไปพร้อมกัน
“วิกฤตโลกร้อนส่งผลต่อประเทศของเรา ไม่ว่าจะเป็นประเทศอินโดนีเซีย หรือประเทศไทย ทุกประเทศเป็นส่วนหนึ่งของโลก และการปกป้องอาร์กติกคือการปกป้องพวกเราทุกคนจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” นักกิจกรรมกรีนพีซชาวอินโดนีเซียกล่าว
คุณเองก็สามารถร่วมเป็นหนึ่งในเสียงเรียกร้องปกป้องอาร์กติกได้ด้วยการปีนภูผา และดาดฟ้าตึก ดูวิธีการที่ www.greenpeace.org/ontop
ปกป้องอาร์กติก ปกป้องทุกสรรพชีวิตบนโลก ร่วมลงนามเพื่อปกป้องอาร์กติกกับเรา
Blogpost โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ -- กันยายน 4, 2557 ที่ 18:38