ที่มาสำนักข่าวอิศรา
กลายเป็นประเด็นทอล์คออฟเดอะทาวน์ สำหรับกรณีพลทหาร 2 นายที่สังกัดหน่วยทหารในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถูกผู้บังคับบัญชาลงโทษจนถึงตายและได้รับบาดเจ็บสาหัส

7 เม.ย.59 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้สั่งการให้ทหาร 6 นายที่ร่วมกันกระทำความผิด ไปขอขมาศพ พลทหารทรงธรรม หมุดหมัด หนึ่งในผู้เสียชีวิต ซึ่งญาติตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่บ้านเกิดใน อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช
ขณะที่ พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก ได้สั่งย้ายผู้พันค่ายพยัคฆ์ อ.บันนังสตา จ.ยะลา และทหารยศร้อยเอกอีกนายหนึ่ง ในฐานะผู้รับผิดชอบ แต่กลับปล่อยปละละเลยทำให้เกิดเรื่องขึ้น
ประเด็นนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง พร้อมๆ กับคลิปวีดีโอการทำร้ายทหารใหม่กรณีอื่นๆ ที่แชร์กันไปทั่ว ทำให้สังคมให้ความสนใจว่า การฝึกทหารใหม่ หรือการควบคุมวินัยของทหาร สามารถลงไม้ลงมือกันได้ถึงบาดเจ็บล้มตายเลยเชียวหรือ
9 พฤติกรรมกับทัณฑ์ 5 สถาน
จากการตรวจสอบของ “ทีมข่าวอิศรา” พบว่า แท้ที่จริงแล้วการลงทัณฑ์ทหารที่กระทำผิดวินัย ถูกควบคุมโดย พระราชบัญญัติวินัยทหาร พ.ศ.2476 ซึ่งยังคงบังคับใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน
เนื้อหาในกฎหมายกำหนดตัวอย่างการกระทำผิดวินัยทหารเอาไว้ 9 ประการ ได้แก่
1. ดื้อ ขัดขืน หลีกเลี่ยง หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาเหนือตน
2. ไม่รักษาระเบียบการเคารพระหว่างผู้ใหญ่ผู้น้อย
3. ไม่รักษามรรยาทให้ถูกต้องตามแบบธรรมเนียมของทหาร
4. ก่อให้แตกความสามัคคีในคณะทหาร
5. เกียจคร้าน ละทิ้ง หรือเลินเล่อต่อหน้าที่ราชการ
6. กล่าวคำเท็จ
7. ใช้กิริยาวาจาไม่สมควร หรือประพฤติไม่สมควร
8. ไม่ตักเตือนสั่งสอน หรือลงทัณฑ์ผู้ใต้บังคับบัญชาที่กระทำผิดตามโทษานุโทษ
9. เสพเครื่องดองของเมาจนถึงเสียกิริยา
เมื่อทหารกระทำผิดวินัย ก็จะต้องถูกลงทัณฑ์ ซึ่งทัณฑ์ที่จะลงแก่ผู้กระทำผิดนั้น กำหนดไว้ 5 สถาน คือ 1.ภาคทัณฑ์ 2.ทัณฑกรรม 3.กัก 4.ขัง และ 5.จำขัง
กฎหมายยังได้นิยามความหมายของทัณฑ์แต่ละประเภทเอาไว้ด้วยอย่างชัดเจน ได้แก่
ภาคทัณฑ์ คือ ผู้กระทำผิดมีความผิดอันควรต้องรับทัณฑ์สถานหนึ่งสถานใดใน 5 สถาน แต่มีเหตุอันควรปราณี จึงเป็นแต่แสดงความผิดของผู้นั้นให้ปรากฏ หรือให้ทำทัณฑ์บนไว้
ทัณฑกรรม คือ ให้กระทำการสุขา การโยธา ฯลฯ เพิ่มจากหน้าที่ประจำซึ่งตนจะต้องปฏิบัติอยู่แล้ว หรือปรับให้อยู่เวรยามนอกจากหน้าที่ประจำ
กัก คือ กักตัวไว้ในบริเวณใดบริเวณหนึ่งตามแต่จะกำหนดให้
ขัง คือ ขังในที่ควบคุมแต่เฉพาะคนเดียวหรือรวมกันหลายคนแล้วแต่คำสั่ง
จำขัง คือ ขังโดยส่งไปฝากให้อยู่ในความควบคุมของเรือนจำทหาร
กฎหมายยังบัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า นอกจากทัณฑ์ 5 สถานนี้แล้ว ห้ามมิให้คิดขึ้นใหม่ หรือใช้วิธีลงทัณฑ์อย่างอื่นเป็นอันขาด
คำถามก็คือ การลงโทษรูปแบบอื่นที่สังคมได้รู้ได้เห็นกันจนชินตา เช่น ยึดพื้น, วิ่ง หรือสก๊อตจัมพ์ อยู่ในการลงทัณฑ์สถานใด