รายงานประจำปีซึ่งเผยแพร่ในวันนี้โดยองค์การไอซ่า (International Service for the Acquisition of Agri-Biotech Applications: ISAAA) ภายใต้หัวข้อ "20th Anniversary of the Global Commercialization of Biotech Crops (1996-2015) and Biotech Crop Highlights in 2015” ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการยอมรับพืชเทคโนชีวภาพ แสดงให้เห็นว่า พื้นที่ปลูกพืชเทคโนชีวภาพ หรือพืชดัดแปลงพันธุกรรม เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลกจาก 1.7 ล้านเฮกตาร์ในปี 1996 เป็น 179.7 ล้านเฮกตาร์ในปี 2015 โดยการที่พื้นที่เพาะปลูกขยายตัวขึ้น 100 เท่าภายในเวลาเพียง 20 ปีทำให้เทคโนโลยีชีวภาพเป็นเทคโนโลยีการเพาะปลูกพืชที่ได้รับการยอมรับอย่างรวดเร็วที่สุดในยุคปัจจุบัน และสะท้อนให้เห็นว่าเกษตรกรมีความพึงพอใจต่อผลผลิตพืชเทคโนชีวภาพ
นับตั้งแต่ปี 1996 ได้มีการเพาะปลูกพืชเทคโนชีวภาพบนพื้นที่เพาะปลูกกว่า 2 พันล้านเฮกตาร์ ซึ่งคิดเป็นพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่กว่าประเทศจีนหรือสหรัฐอเมริกาถึง 2 เท่า ยิ่งไปกว่านั้น มีการประมาณการว่า ตั้งแต่ปี 1996 เกษตรกรใน 28 ประเทศได้รับผลตอบแทนจากผลผลิตพืชเทคโนชีวภาพเป็นมูลค่ากว่า 1.50 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งช่วยบรรเทาความยากจนของเกษตรกรรายย่อย 16.5 ล้านคนและครอบครัวของเกษตรกร ซึ่งคิดเป็นจำนวนรวมประมาณ 65 ล้านคนต่อปี ซึ่งบางส่วนมาจากกลุ่มประชากรที่ยากจนที่สุดในโลก
"เกษตรกรในประเทศกำลังพัฒนาหันมาเพาะปลูกพืชเทคโนชีวภาพกันมากขึ้น เนื่องจากเป็นพืชทางเลือกที่ผ่านการทดสอบอย่างเข้มงวดแล้วว่าสามารถปรับปรุงผลผลิตพืชผลได้จริง" ไคลฟ์ เจมส์ ประธานและผู้ก่อตั้งองค์การไอซ่า ในฐานะผู้เขียนรายงานประจำปีมากว่าสองทศวรรษกล่าว "ถึงแม้จะมีคำกล่าวอ้างจากผู้ไม่เห็นด้วยว่า เทคโนโลยีชีวภาพให้ประโยชน์กับเกษตรกรในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่การที่ประเทศกำลังพัฒนาได้นำเอาเทคโนโลยีนี้ไปใช้อย่างต่อเนื่อง ก็เป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่าพวกเขาคิดผิด" เจมส์กล่าวเสริม
กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเพาะปลูกพืชเทคโนชีวภาพ (14.5 ล้านเฮกตาร์) มากกว่ากลุ่มประเทศอุตสาหกรรมเป็นปีที่ 4 ติดต่อกันแล้ว โดยในปี 2015 เกษตรกรจากละตินอเมริกา เอเชีย และแอฟริกา เพาะปลูกพืชเทคโนชีวภาพคิดเป็นสัดส่วน 54% ของพื้นที่ปลูกพืชเทคโนชีวภาพทั่วโลก ( 97.1 ล้านเอกตาร์ จากทั้งหมด 179.1 ล้านเฮกตาร์) และในบรรดาประเทศที่ปลูกพืชเทคโนชีวภาพ 28 ประเทศนั้น พบว่า 20 ประเทศเป็นประเทศกำลังพัฒนา ทั้งนี้ ในแต่ละปี ระหว่างปี 1996-2015 มีเกษตรกรมากถึง 18 ล้านคนได้รับประโยชน์จากการปลูกพืชเทคโนชีวภาพ โดย 90% ของเกษตรกรกลุ่มนี้เป็นผู้เพาะปลูกรายย่อยในประเทศกำลังพัฒนาที่ขาดแคลนทรัพยากร
"จีนเป็นตัวอย่างหนึ่งของประเทศกำลังพัฒนาที่เกษตรกรได้รับผลประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยีชีวภาพ โดยในระหว่างปี 1997-2014 เกษตรกรจีนที่ปลูกฝ้ายดัดแปลงพันธุกรรมสามารถทำเงินได้ถึง 1.75 หมื่นล้านดอลลาร์ และ 1.3 พันล้านดอลลาร์เฉพาะปี 2014 เพียงปีเดียว" นายแรนดี้ โฮเทีย ผู้ประสานงานระหว่างประเทศของไอซ่ากล่าว
นอกจากนี้ในปี 2015 อินเดียยังกลายเป็นผู้ผลิตฝ้ายชั้นนำของโลก ซึ่งการเติบโตดังกล่าวมีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการปลูกฝ้ายบีที (Bt Cotton) ซึ่งเป็นฝ้ายดัดแปลงพันธุกรรม ทั้งนี้ อินเดียเป็นประเทศที่ปลูกฝ้ายดัดแปลงพันธุกรรมมากที่สุดในโลก โดยในปี 2015 มีเกษตรกรรายย่อย 7.7 ล้านรายปลูกฝ้ายดัดแปลงพันธุกรรมบนพื้นที่ 11.6 ล้านเฮกตาร์ อีกทั้งในปี 2014 และ 2015 ต้นฝ้ายถึง 95% ของอินเดียถูกปลูกด้วยเมล็ดดัดแปลงพันธุกรรม ในขณะที่จีนปลูกฝ้ายโดยใช้เมล็ดดัดแปลงพันธุกรรมถึง 96% ในปี 2015
"เกษตรกร ซึ่งเดิมที่ไม่ชอบความเสี่ยง เริ่มเห็นข้อดีของพืชเทคโนชีวภาพที่มีต่อทั้งผู้บริโภคและตัวเกษตรกรเอง ทั้งการทนต่อความแห้งแล้ง ความต้านทานโรคและแมลง การทนต่อยากำจัดวัชพืช ตลอดจนคุณภาพอาหารและโภชนาการที่เพิ่มขึ้น” นายโฮเทียกล่าวเพิ่มเติม “นอกจากนี้ พืชเทคโนชีวภาพยังนำมาซึ่งระบบการผลิตพืชผลที่ยั่งยืนมากขึ้น พร้อมจัดการกับความกังวลที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความมั่นคงทางด้านอาหารทั่วโลก"
การปลูกพืชเทคโนชีวภาพเพิ่มสูงขึ้นติดต่อกันมา 19 ปี ตั้งแต่ปี 1995 ถึง 2014 โดยมีอัตราการขยายตัวสองหลักถึง 12 ปีด้วยกัน พื้นที่ปลูกพืชเทคโนชีวภาพเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดที่ 181.5 ล้านเฮกตาร์ในปี 2014 เทียบกับ 179.7 ล้านเฮกตาร์ในปี 2015 ซึ่งคิดเป็นการปรับตัวลดลงสุทธิ 1% ความเปลี่ยนแปลงนี้มีสาเหตุหลักมาจากพื้นที่เพาะปลูกพืชโดยรวมที่ลดลง ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรที่ลดต่ำลงในปี 2015 อย่างไรก็ดี องค์การไอซ่าคาดการณ์ว่าพื้นที่เพราะปลูกโดยรวมจะเพิ่มขึ้น เมื่อราคาพืชผลปรับตัวดีขึ้น เช่นเดียวกับที่แคนาดาได้คาดการณ์ว่าพื้นที่ปลูกคาโนลาในปี 2016 จะดีดตัวกลับสู่ระดับที่สูงกว่าปี 2014 นอกจากนี้ปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เพาะปลูกพืชเทคโนชีวภาพในปี 2015 ยังรวมถึงภัยแล้งในประเทศแอฟริกาใต้ ที่ส่งผลให้พื้นที่เพาะปลูกลดลงอย่างมากถึง 23% จาก 700,000 เฮกตาร์ที่เดิมตั้งใจว่าจะใช้ทำการเพาะปลูกในปี 2015 ภัยแล้งทางตอนใต้และตะวันออกของแอฟริกาในช่วงปี 2015/2016 ส่งผลให้คนยากจน 15-20 ล้านคนตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะขาดแคลนอาหาร และบีบให้ประเทศแอฟริกาใต้ซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวโพด ต้องกลายเป็นผู้นำเข้าข้าวโพดแทน
สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมหรือข้อมูลสรุปของรายงานได้ที่ www.isaaa.org