
วันนี้การท่องเที่ยวของประเทศไทยกำลังเป็นผงาดเป็นดาวรุ่งภูมิภาคเอเชีย ที่มีนานาชาติทั่วโลกเลือกเป็นจุดหมายเดินทางเข้ามาเที่ยวตามเป้าหมายปี 2561 จะทำได้กว่า 38 ล้านคน ใช้จ่ายเงินรวมไม่ต่ำกว่า 2 ล้านล้านบาท ในทางกลับกันปีนี้สมาคมไทยบริการการท่องเที่ยว (Thai Travel Agent Association :TTAA) ผู้นำกลุ่มสมาชิกบริษัทตัวแทนนำเที่ยวต่างประเทศได้ประเมินสถานการณ์ไว้ว่าปี 2561 จะมีคนไทยเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 10 ล้านคน เม็ดเงินจะไหลออกนอกประเทศมูลค่านับล้านล้านบาทเช่นกัน

ตลอดปี 2561 การสร้าง “สมดุลรายได้ท่องเที่ยว” ระหว่างเงินท่องเที่ยวต่างชาติไหลเข้ากับคนไทยเที่ยวนอกไหลออกยอดสูสีกันมาก จึงเป็นภารกิจท้าทายความสามารถรัฐบาลและเอกชนไทยทุกกลุ่ม ถึงเวลาต้องหันหน้ามาร่วมมือกันกำหนดแนวทางจะทำอย่างไรให้ “นักท่องเที่ยวต่างชาติและคนไทย” ใช้จ่ายเงินอยู่ในประเทศกระจายสู่ชุมชนและเมืองรองตามนโยบายของรัฐบาล
โดยเฉพาะ “มาตรการ-แรงจูงใจ-การปลดล็อกยอดซื้อสินค้าจากธุรกิจของคนไทยด้วยกัน” ขณะนี้มีพลังพอที่จะกระตุ้นนักท่องเที่ยวไทยกลุ่มคนรวยที่มีความพร้อมจะใช้เงิน กลยุทธ์ที่งัดออกมาใช้แรงพอหรือยัง? ในหมวดทำรายได้สำคัญ ๆ อย่าง “ช้อปปิ้งและอาหาร” ซึ่งปัจจุบันทั้ง 2 หมวดทำส่วนแบ่งรายได้จากนักท่องเที่ยวรวมกันเกินกว่า 50 % ของรายได้ท่องเที่ยวทั้งหมด

“การเพิ่มรายได้จากหมวดช้อปปิ้งสินค้าในไทย” ทั้งปัจจุบันและอนาคตสามารถพัฒนาให้เติบโตแบบก้าวกระโดดหรือเพิ่มได้ไม่จำกัด ถ้าหาก “รัฐ” หันมาทบทวนอย่างจริงจังเพื่อปลดล็อกข้อจำกัดที่ล้าหลังด้วยการยอมรับความเป็นจริง โดยเฉพาะปมใหญ่อย่าง “ระเบียบที่ขึ้นสนิมของกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง” ในกรณีห้ามคนไทยที่เดินทางออกนอกประเทศใช้เงินเกินคนละ 20,000 บาท
เพราะระเบียบเหล่านี้นอกจากจะเป็น “แรงฉุดรายได้เข้าประเทศลดต่ำลง” เนื่องจากคนไทยจะตัดสินใจไม่ใช้เงินซื้อสินค้าในไทยเพื่อหลีกเลี่ยงระเบียบดังกล่าวที่สร้างความยุ่งยาก แถมยังเป็น “แรงหนุนให้คนไทยนำเงินไปใช้ซื้อสินค้าแบรนด์เนมจากต่างประเทศ” มากขึ้นจนประเทศเสียดุลเพิ่มอีกหลายเท่า
ถึงเวลาแล้วที่รัฐควรเคาะสนิมระเบียบต่าง ๆ หันมายอมรับความจริงในพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวคนไทย

ส่วนเอกชนไทยก็ต้องหันหน้ามาร่วมมือกัน” หาวิธีทำให้ “ต่างชาติพึงพอใจ” ในช่วงโอกาสทองทั่วโลกเลือกประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางอันดับต้น ๆ ยิ่งในภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้นต้องหาทางทำให้ “คนไทยกลุ่มที่มีฐานะทางการเงินดี” หันมาท่องเที่ยวภายในประเทศลดสัดส่วนการยกครอบครัวหอบเงินไปเที่ยวต่างประเทศ
โจทก์ใหญ่ของประเทศไทยในการหาวิธีทำให้ “เงินต่างชาติและคนไทย” อยู่ในประเทศให้มากที่สุดช่วงการท่องเที่ยวขาขึ้นในปี 2561 จึงน่าสนใจอย่างยิ่ง สิ่งที่ทุกฝ่ายควรจะเพิ่มยอดรายได้ช้อปปิ้งคือ ต้องเร่งสร้าง “สินค้าไทย” แจ้งเกิดอย่างรวดเร็วมีมาตรฐานพร้อมเข้าสู่ตลาดสากล และทำให้ “สินค้าแบรนด์เนม” ที่นักช้อปทั่วเอเชียยอมควักเงินจ่ายแบบไม่อั้นซึ่งไทยพยายามในการผลักดันให้ประเทศก้าวเข้าสู่ “ศูนย์กลางช้อปปิ้งพาราไดซ์” เป็นจริงขึ้นมาให้ได้

ปรากฏการณ์ธุรกิจที่น่าสนใจคือ “การพัฒนาธุรกิจร้านค้าปลอดอากร” (duty free shop) ของ “กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์” ให้กลายเป็น “ร้านค้าปลีกเพื่อการท่องเที่ยวที่ตอบสนองการเดินทางที่ไม่มีวันสิ้นสุด” หรือ “Explore Endlessly Jouney” ผสมผสานการลงทุนอย่างลงตัวด้วยการเนรมิตร แหล่งช้อปปิ้ง โรงแรม ร้านอาหาร และการเป็นเจ้าบ้านที่ดีต้อนรับผู้มาเยือนอย่างเป็นมิตร (hospitality) จนสามารถสร้างยอดขายรวมเข้าประเทศมูลค่ารวมปีละ 900,000-100,000 ล้านบาท
สำหรับยอดขายปีละเกือบ 100,000 ล้านบาท นั้น กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ได้รับจากกำลังซื้อของสมาชิก“คนไทย” ปีละกว่า 7 แสนราย และ “ต่างชาติ” เกินกว่า 10 ล้านคน ขณะนี้ที่ตลาดมาแรงคือนักท่องเที่ยวจีนที่เลือกช้อปในร้านคิง เพาเวอร์ ปีละกว่า 7-8 ล้านคน
แต่หัวใจสำคัญของการขายสินค้าของกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ สามารถตอบโจทก์ตามนโยบายภาครัฐคือ “การกระจายรายได้สู่ชุมชน” เนื่องจากในร้าน
ดิวตี้ฟรี คิง เพาเวอร์ ตามสนามบิน (duty free airport) และในเมือง (duty free downtown) ทั้ง 10 แห่ง ได้คัดเลือกชุมชนผู้ผลิตสินค้าไทยมาวางจำหน่าย สามารถแบ่งปันรายได้ด้วยการนำสินค้าไทยตามท้องถิ่นทั้ง 4 ภาค มาวางขายทำเงินได้เป็นกอบกำปีละกว่า 20,000-25,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 20-25 % ของรายได้ทั้งหมด