เมื่อเร็วๆนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดสัมมนาเรื่อง สัมปทานดิวตี้ฟรี ก้าวสู่สากล ในมุมมองทางธุรกิจ โดยมีกูรูเข้าร่วมสัมมนามากมาย โดยที่ ผศ.ดร.วิโรจน์ วาทินพงศ์พันธ์ ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ Duty Free ของประเทศไทย โดยตั้งคำถามว่า เพื่อนักท่องเที่ยวขาออกไม่รวมคนไทย ใช่หรือไม่ จะต้องประกาศให้ชัดเจน อย่างล่าสุดที่มีประกาศของ กรมศุลกากร ที่ 60/2561 เรื่องการปฏิบัติของพิธีการศุลกากรของติดตัวผู้โดยสารที่นำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ระบุว่าของที่ซื้อจากร้านค้าปลอดภาษีในเมืองหรือในอาคารผู้โดยสารขาออกสนามบินจะต้องนำออกไปนอกราชอาณาจักรเท่านั้น หากจะนำกลับเข้ามาต้องผ่านช่องแดง และชำระค่าอากร
ประกาศดังกล่าว ดูเหมือนว่านโยบาย ดิวตี้ฟรี จะเน้นเฉพาะคนต่างชาติ คนไทยจะต้องแสดงทรัพย์สินมีค่าที่ติดตัวไปก่อน ซึ่งจะทำให้ คนไทยเองเดินทางเข้าออกประเทศได้ยากลำบาก กว่าคนต่างชาติ
ประเด็นต่อมาก็คือ ประกาศนี้อาจขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 ที่กำหนดว่ารัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเท่าที่จำเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุง กฎหมายที่ไม่จำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ หรือเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้า เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับประชาชน และดำเนินการให้ประชาชนเข้าถึงกฎหมายต่างๆได้โดยสะดวกและสามารถเข้าใจกฎหมายได้อย่างถูกต้อง
การที่รัฐจะออกกฎหมายอะไรก็ตาม ต้องผ่านการประเมินผลกระทบก่อน ที่เรียกว่า Regulatory Impact Assessment แม้ดิวตี้ฟรีมีรูปแบบชัดเจน แต่มีกฎหมายอื่นที่กระทบต่อการก้าวสู่สากลของไทย รูปแบบไม่เป็นไร แต่ สิทธิผู้บริโภคเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าธุรกิจเป็นรูปแบบ ไหน สิทธิผู้บริโภคจะต้องได้รับการคุ้มครอง รัฐควรให้ความสำคัญกับความชอบธรรมในระบบมากกว่าการแข่งขัน
อย่างไรก็ตาม ผลประโยชน์ของประชาชนผู้บริโภคมีความสำคัญมากที่สุด การสัมปทานหรือการแข่งขันทางการค้า เป็นกฎกติกาที่มีขั้นตอนชัดเจนอยู่แล้ว ในบริบทที่ว่าประเทศและประชาชนจะต้องได้รับประโยชน์สูงสุด
มีเสียงเรียกร้องขอให้มีการเปิดสัมปทานดิวตี้ฟรีในสนามบินโดยไม่อยากให้มีการผูกขาดจากสื่อและกลุ่มบุคคลที่พยายามจะบิดเบือนให้เห็นว่าการสัมปทานดิวตี้ฟรีของ คิง เพาเวอร์ ดำเนินการไม่ถูกต้อง มีการเคลื่อนไหวหยิบยกมาโจมตีสารพัดเรื่องเพื่อให้สังคมเกิดความไขว้เขว
จุดประสงค์ เบื้องหน้าเบื้องหลัง เพราะต้องการให้กลุ่มธุรกิจอื่นเข้ามาแข่งขันธุรกิจดิวตี้ฟรีในสนามบิน โดยใช้สื่อมีสังกัดมาเผยแพร่ข้อมูลแค่ครึ่งเดียว
ตราบใดที่ คิง เพาเวอร์ ประมูลสัมปทานเข้ามาอย่างถูกต้องและยังไม่หมดอายุการสัมปทาน กฎกติกาการเข้ามาทำธุรกิจดิวตี้ฟรีในสนามบินที่ระบุไว้ในสัญญาการประมูลเป็นอย่างไรก็ต้องปฏิบัติอย่างนั้น
ถ้าจะให้มีการเปิดแข่งขันหรือการประมูลใดๆก็ต้อง ระบุไว้ในการเปิดประมูลครั้งต่อไป หลังจากที่ คิง เพาเวอร์ สิ้นสุดอายุการสัมปทานไปแล้ว
ไม่เช่นนั้นก็จะเกิดรายการปล้นกลางแดดขึ้น ทำลายความเชื่อมั่นในการลงทุน ที่อยู่ๆจะให้มีการแก้ไขระเบียบเพื่อเอื้อให้รายอื่นเข้ามาแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรม แค่คิดก็ผิดแล้ว.
https://www.thairath.co.th/content/1233311