การเมืองเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็พูดถึง ทั้งก่อน
เลือกตั้งและหลังเลือกตั้ง ยิ่งหลังเลือกตั้งเสร็จแล้วก็ตามมาด้วยการจัดตั้งรัฐบาล พรรคไหนจะจับขั้วกับพรรคไหนบ้าง และใครจะเป็นนายกรัฐมตรี เป็นสิ่งที่ทุกคนจับตามอง และติดตาม
แม้จริงๆแล้วความชัดเจนควรจะต้องหลังวันที่ 9 พ.ค. ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ ก.ก.ต. จะประกาศ
คะแนนการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการก็ตาม แต่การคาดการณ์พรรคร่วมรัฐบาลก็มีออกมาให้เห็นแทบทุกวันแม้จะรู้ว่าความชัดเจนยังไม่มีก็ตาม ซึ่งความไม่ชัดเจนดังกล่าวกำลังฉุดกระชากลากถู และบั่นทอนเศรษฐกิจในประเทศไม่น้อยเลยทีเดียว
ที่บอกว่า "บั่นทอน" ก็หมายความว่าเมื่อยังไม่ได้รัฐบาลใหม่ การลงทุนที่กำลังจะเข้ามาก็ขอชะลอไว้ก่อน เพื่อดูว่ารัฐบาลใหม่จะหน้าตาเป็นอย่างไร เพราะกลัวว่าหากลงทุนไปแล้ว เกิดมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นมาคงจะไม่ดีแน่นอน เพราะฉะนั้นเรื่องนี้จึงเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความกังวลสำหรับนักลงทุน
ขณะที่ประเด็น "เกียร์ว่าง" ที่มักจะเห็นกันเป็นประจำก่อนได้รัฐบาล ก็เป็นอีกเรื่องที่อาจทำให้โครงการต่างๆ ไม่เดินหน้าไปเท่าที่ควร ต่อให้รัฐบาล คสช. จะมีอำนาจเต็มในการบริหารอยู่ก็ตาม แต่ก็การันตีไม่ได้ว่าจะไม่เกิดกรณีนี้ขึ้น นี่ยังไม่รวมกรณีที่หากการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าออกไปเรื่อยๆ ในกรณีมีการประท้วง ไม่เห็นด้วยกับคะแนนการเลือกตั้ง ตลอดจนความรุนแรงที่ไม่มีอยากเห็น ก็ยิ่งจะฉุดให้เศรษฐกิจในปีนี้เติบโตชะลอลงไปอีก
ล่าสุดเริ่มมีสัญญาณไม่ดีที่สังเกตุเห็นกันง่ายๆ จากการพร้อมใจกันหั่นเป้าจีดีพีของหลายๆ หน่วย
งาน ทั้งภาครัฐ และเอกชน ที่มองว่านอกจากความเสี่ยงปัจจัยต่างประเทศไม่ว่าจะเรื่องสงครามการค้าสหรัฐ-จีน Brexit ของอังกฤษ รวมทั้งเศรษฐกิจโลกโดยรวมที่ไม่มีความแน่นอนแล้ว ปัจจัยการเมืองในประเทศก็เป็นอีกเรื่องสำคัญที่ทำให้จีดีพีปีนี้อาจโตต่ำกว่าที่คาดไว้ เพราะส่วนใหญ่แล้วนักลงทุนโดยเฉพาะต่างชาติจะให้ความสำคัญกับเรื่องการเมืองในประเทศ หากไม่ชัดเจนก็คงไม่มีใครอยากเข้ามาลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนทางตรง หรือทางอ้อม ผ่านตลาดเงินและ ตลาดทุน
เริ่มจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย หั่นคาดการณ์จีดีพีปีนี้เหลือโต 3.7% จากเดิม 4% หลังส่งออกมีแนวโน้มชะลอเหลือโตแค่ 3.2% เท่านั้น โดยมองว่ารูปแบบรัฐบาลผสมไม่ว่าจะมีองค์ประกอบแบบใดก็ต้องเผชิญโจทย์การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่กระทบภาคการส่งออกทั้งสิ้น ซึ่งนั่นทำรัฐบาลใหม่ต้องเร่งผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วนภายใต้กรอบงบประมาณ 2562 รวมถึงการผ่านร่างงบประมาณปี 2563
ด้านคณะกรรมการภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ก็หั่นเป้าจีดีพีปีนี้เหลือโตในกรอบ 3.7-4% จากเดิม 4-4.3% แถมยังปรับลดเป้าส่งออกเหลือโต 3-5% จากเดิม 5-7% เพราะความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกจากสงครามการค้า Brexit และเศรษฐกิจจีน ขณะที่ยังต้องรอความชัดเจนทางการเมือง และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ว่าจะออกมาอย่างไร
ขณะที่ บล.เอเซียพลัส ระบุชัดเจนว่าเศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเสี่ยงจากการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า ซึ่งหากอิงตามรัฐธรรมนูญใหม่ การจัดตั้งรัฐบาลใหม่น่าจะเกิดขึ้นภายในเดือน ก.ค. แต่ถ้าขั้นตอนต่างๆ ล่าช้าออกไปจะกระทบต่อการพิจารณาร่างงบประมาณปี 2563 ล่าช้า และทำให้งบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ โดยเฉพาะการเบิกจ่ายภาครัฐ และกระทบต่อการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนล่าช้า ซึ่งจะกระทบต่อการบริโภคครัวเรือน ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงต่อจีดีพีมีโอกาสจะต่ำกว่าประมาณการ โดยประเมินว่าจีดีพีปี 2562 จะเติบโตเฉลี่ย 3.7-3.8% จากเดิมคาด 4.1-4.2%
ส่วนฟากฝั่งภาครัฐฯ วิระไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. ยอมรับว่าการเติบโตของเศรษฐกิจปีนี้จะชะลอลงมาอยู่ที่ 3.8% จาก 4% ในปี 61 โดยบอกว่าจะพยายามรักษาสมดุลในการจัดการกับปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจ ทั้งระดับหนี้ที่เพิ่มขึ้น การขยายตัวของเศรษฐกิจที่ชะลอลง และอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำ
ดังนั้นมองแบบไม่เข้าข้างตัวเองแล้ว หากการจัดตั้งรัฐบาลยิ่งล่าช้า หรือไม่เป็นไปตามกำหนดในเดือน ก.ค. เศรษฐกิจในปีนี้มีโอกาสเสี่ยงต่ำกว่าประมาณการอย่างที่หลายๆ ค่ายประเมิน เศรษฐกิจอาจจะติดหล่ม สะดุดกลางคันได้เหมือนกัน ยิ่งประเด็นการเบิกจ่ายงบประมาณ ที่จำเป็นต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่สามารถทำได้ทันตามกำหนด กว่าจะดันเศรษฐกิจให้หลุดจากหล่มได้ก็คงไม่ง่ายนัก ในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่ง ก็ได้แต่หวังให้หลังวันที่ 9 พ.ค. นี้ การจัดตั้งรัฐบาลผสมที่ไม่ว่าจะเป็นฝั่งไหน เป็นไปอย่างราบรื่น ไร้ความรุนแรง ไม่ยืดเยื้อ เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ และหากภายใน ก.ค. โฉมหน้ารัฐบาลใหม่ไม่ชัด ก็เตรียมตัวเตรียมใจที่เม็ดเงินซึ่งหวังจะไหลเข้ามาอาจหยุดชะงัก