บิ๊กบอสสมโภชน์พาคณะไปเยือนบริษัทและโรงงานอมิตา เทคโนโลยีส์ อิงค์ ที่เมืองเถาหยวน เป็นที่แรกก่อน
ด้านหน้าทางเข้าบริษัท ตั้งพระพุทธรูปพระอมิตาภพุทธะองค์ขนาดกลางไว้ บ่งบอกว่าถึงที่มาของชื่อบริษัทอมิตา ซึ่งมาจากคำว่า อมิตาภพุทธ
เอลเดน ถู ผู้อำนวยการบอร์ดของอมิตา มาช่วยบรรยายที่มาที่ไปของบริษัท ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2543 โดย ดร.จิม เฉิง ผู้เชี่ยวชาญเรื่องแบตเตอรี่ และมุ่งพัฒนาแบตเตอรี่ประเภทลิเทียมไอออนโพลิเมอร์ จนดึงเอาจุดเด่นของลิเทียมมาเพิ่มศักยภาพระบบกักเก็บพลังงานได้เป็นอย่างดี โดยโรงงานของ อมิตาแห่งนี้ออกแบบเครื่องจักรที่ใช้ผลิตแบตเตอรี่เองอย่างครบวงจร
คุณสมโภชน์กล่าวเสริมว่า ตอนแรกลิเทียมไม่ได้เข้าตาอีเอเลย ด้วยเห็นว่าแพงมาก กระทั่งเมื่อลงไปศึกษาวิจัยอย่างจริงจังรอบด้านใช้เวลาอยู่ 2-3 ปีแล้ว จึงตกผลึกและได้บทสรุปว่า ลิเทียมดีจริงๆ เพราะทำให้การผลิตพลังงานหมุนเวียนมีเสถียรภาพมากขึ้น ใช้พื้นที่น้อยลง ติดตั้งได้ทั้งในบริเวณจุดผลิต ระบบสายส่งไฟฟ้า จุดจ่ายไฟฟ้า ตลอดจนผู้ใช้ไฟฟ้า เหมาะสำหรับการใช้ในระบบการผลิตไฟฟ้าแบบกระจายตัว ไม่รวมศูนย์ ลดการลงทุนในระบบสายส่งขนาดใหญ่ ลดการศูนย์เสียพลังงาน และมีความคล่องตัว
อีเอจึงกลับมายังอมิตา โดยลงทุนซื้อหุ้นของบริษัทอมิตาอย่างเป็นมิตรช่วงปลายปี 2559 หลังจากเห็นว่าอมิตามีความเชี่ยวชาญมาก แม้ยังไม่เก่งเรื่องการตลาด แต่จุดเด่นอีกด้านของอมิตาคือมีความสัมพันธ์อันดีมากกับ ITRI สถาบันวิจัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรมไต้หวัน
ผลงานเด่นที่เป็นก้าวสำคัญ ได้แก่ STOBA ซึ่งได้รับรางวัลและการยอมรับระดับโลก
STOBA เป็นวัสดุโพลิเมอร์ระดับนาโน เติมลงในแบตเตอรี่ ลิเทียมเพื่อเป็นแผ่นฟิล์มนั้น ป้องกันการลัดวงจร เมื่อเกิดความร้อนขึ้นข้างในแบตเตอรี่ สโตบาจะปิดกั้นไอออนทั้งบวกและลบไม่ให้ สปาร์กกัน จึงปลอดภัยไม่เกิดการระเบิดขึ้น ทำให้แบตเตอรี่ลิเทียมไออนของอมิตา มีความปลอดภัยสูงมาก
เป็นตัวอย่างหนึ่งจากการจับมือประสานพลังสามฝ่ายที่ตัวด้วยประการทั้งปวง
จากนั้นทีมงานไปต่อที่สำนักงาน ITRI (ออกเสียงอิ-ทรี แบบ ท นำควบกล้ำ) Industrial Technology Research Institute ที่เมืองซินจู๋
อิทรีเทียบไปแล้วคล้ายกับหน่วยงาน สวทช. ในบ้านเรา แต่มีภารกิจและประสบการณ์ใกล้ชิดวงการอุตสาหกรรมเอกชนมากกว่า รวมทั้งได้เงินงบประมาณสนับสนุนต่างออกไป คือมาจากรัฐบาลและเอกชนในสัดส่วนเท่าๆ กัน 50 : 50
เป็นส่วนที่กระตุ้นให้ทีมวิศวกรอิทรี ต้องร่วมพัฒนาผลงานออกมาทยอยออกมาจดสิทธิบัตรได้อย่างสม่ำเสมอ
ที่ตั้งของอิทรีอยู่ท่ามกลางบรรยากาศ สีเขียว เต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่น้อยสื่อถึงการเป็นสถาบันด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในทุกย่างก้าว
สามประสานที่ไต้หวัน
อิทรีมีพนักงาน 6,246 คน จบระดับด๊อกเตอร์ 1,434 คน ปริญญาโท 3,685 คน และปริญญาตรี 1,127 คน มีสำนักงานอยู่ทั่วเกาะไต้หวัน
เจ้าหน้าที่ของอิทรีพาชมผลงานและผลิตภัณฑ์เทคโนโลยี อันน่าตื่นตาตื่นใจหลายชิ้น กวาดรางวัลนานาชาติมาหลายตัวและต่อเนื่องหลายปีถึงปัจจุบัน แต่ละตัวผ่านการวางแผนและคำนวณตั้งแต่เริ่มต้นว่าปลายทางของผลิตภัณฑ์จะไปลงเอยอย่างไร จะรีไซเคิลอย่างไร และระหว่างเส้นทางการผลิตจะรักษาสภาพแวดล้อมทั้งน้ำ ฟ้า ดิน ได้อย่างไร
เช่น การรีไซเคิลจอแอลอีดีของโทรทัศน์ การผลิตโดรนที่ใช้พลังงานไฮบริด และการออกแบบตกแต่งภายในอาคารที่ใช้พลังงานจากธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า
จากนั้นเป็นการบรรยายผลงานและแผนงานเทคโนโลยีและนวัตกรรมของอิทรี นำทีมโดย ดร.เฉิน เจ๋อหยง รองผู้อำนวยการ
นอกจาก STOBA ที่ได้รับรางวัลและการยอมรับระดับโลกแล้ว ยังมี SWAGO ระบบกักเก็บพลังงานและชาร์จอัตโนมัติ มีรูปแมวเหมียวนั่งตาแป๋วเป็นพรีเซ็นเตอร์ และมีสถานีชาร์จอี-สกู๊ตเตอร์หลังคาติดแผงโซลาร์เซลล์ให้ชมเป็นขวัญตา
ช่วงท้ายอิทรียังเผยโฉมโรงงานรูปทรงทันสมัยแปลกตาของ อีเอที่จะเปิดที่จังหวัดฉะเชิงเทรา (Blue Tech City) ในปีหน้า
เป็นอีกหนึ่งผลงานความร่วมมือพัฒนาธุรกิจด้านระบบกักเก็บพลังงาน ที่นำไปสู่การขยายกำลังการผลิตของโรงงานในไต้หวันไปสู่ไทย เพื่อสร้างฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ด้วยขนาดกำลังการผลิต 50 กิกะวัตต์ ชั่วโมงต่อปีในไทย มูลค่าการลงทุนราว 100,000 ล้านบาท
แผนงานนี้จะทำให้อีเอก้าวขึ้นเป็นผู้นำในธุรกิจแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนของภูมิภาคอาเซียน
ซีอีโอสมโภชน์กล่าวว่า เลือกฉะเชิงเทรา ซึ่งใกล้กรุงเทพฯ เป็นที่ตั้งโรงงานอีเอ เพราะบุคลากรของอีเออยู่ในเขตลาดกระบัง เป็นสถานที่ที่มีทรัพยากรมนุษย์และการขนส่งวัตถุดิบที่นำเข้า
“เรามักชินที่ต้องพึ่งการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งสมัย 30 ปีก่อนทำได้ เพราะประชากรตอนนั้นของเรายังเป็นวัยรุ่นกลุ่มใหญ่ ไม่ใช่เข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างตอนนี้ ผมเห็นว่าเราต้องลงทุนเองในไทยให้ได้ อีเอเกิดมาจากเงินสนับสนุนของรัฐ (subsidy) ตอนนี้เราโตแล้ว ผมจะเป็นบริษัทแรกที่แสดงให้เห็นว่า เมื่อเราเคยได้ subsidy จากรัฐ ถึงเวลาที่เราจะคืนให้ชาติ เราจะเป็นคะตะไลต์ และถ้าอีเอทำสำเร็จ นี่จะเป็นโมเดลทางธุรกิจ เราจะทำให้เกิดดีเอ็นเอนี้และเดินไปข้างหน้า” ซีอีโออีเอ กล่าวอย่างมุ่งมั่น
https://www.khaosod.co.th/sci-tech/news_2694957