ระเบียบโลกใหม่เริ่มต้นที่ข้อตกลงพลาซาเมื่อ 35 ปีก่อน ส่งผลให้ญี่ปุ่นสยายปีกไปทั่วโลก และที่สำคัญทำให้ไทยกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ แล้วตอนนี้ญี่ปุ่นกำลังจะถอนตัวจากไทย ไทยจะเป็นอย่างไร
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) ชี้ให้เห็นถึงกรณี “เด็ดดอกไม้ สะเทือนถึงดวงดาว” ในแง่การลงทุนอสังหาริมทรัพย์โลกและไทยผ่านกรณีข้อตกลงพลาซา ที่ทำให้เกิดการลงทุนข้ามชาติขนานใหญ่ ซึ่งไทยก็พลอยได้รับอานิสงส์ไปด้วย แต่มาทีนี้ไทยกำลังจะตกที่นั่งลำบาก ทุนต่างชาติโดยเฉพาะญี่ปุ่นถอนตัวจากไทย ไทยจะผลิตสินค้าแบรนด์ของตนเองแบบเกาหลี ไต้หวัน จีนได้หรือไม่ หรือรอให้เวียดนาม อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์แซงเราไป เช่นที่เกาหลี ไต้หวัน มาเลเซีย สิงคโปร์ แซงมาแล้ว
ข้อตกลงพลาซา (อังกฤษ: Plaza Accord) มี “ชื่ออย่างเป็นทางการคือ ปฏิญญาระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของฝรั่งเศส, เยอรมนี, ญี่ปุ่น, สหราชอาณาจักร และสหรัฐ (Announcement of the Ministers of Finance and Central Bank Governors of France, Germany, Japan, the United Kingdom, and the United States) เป็นข้อตกลงระหว่าง 5 ประเทศอุตสาหกรรมหลัก เพื่อบังคับให้ญี่ปุ่นและเยอรมนีเพิ่มค่าเงินของตัวเองเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ รัฐบาลทั้งห้าประเทศได้ลงนามข้อตกลงนี้ในวันที่ 22 กันยายน 2528 ที่โรงแรมพลาซา ในนครนิวยอร์ก”
ผลของข้อตกลงนี้ก็คือ “ญี่ปุ่นและเยอรมนีสามารถซื้อหาสินค้าต่างประเทศได้ในราคาถูกลงเกือบเท่าตัว แต่ในทางตรงข้าม สินค้าที่ผลิตในญี่ปุ่นในสายตาของชาวโลกกลับมีราคาแพงขึ้นเท่าตัวด้วยเช่นกัน. . .เมื่อภาคการผลิตในญี่ปุ่นทำผลกำไรลดต่ำลง จึงเกิดการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีต้นทุนต่ำกว่าและขนส่งได้สะดวก ซึ่งก็คือกลุ่มอาเซียน” โดยเฉพาะไทย ทั้งนี้ไทยถือเป็นเป้าหมายใหญ่ บริษัทใหญ่ๆ ของญี่ปุ่นย้ายมาไทยมากกว่าประเทศอื่น ในขณะเดียวกันประเทศในอินโดจีนยังขาดความมั่นคงทางการเมือง ฟิลิปปินส์ก็เพิ่งมีการโค่นล้มประธานาธิบดีมากอสในปี 2529 ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า ประเทศไทยเติบโตขึ้นมาได้เพราะญี่ปุ่น
ในสมัยนั้น ญี่ปุ่นไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ทั้งที่ยุโรป อเมริกา ออสเตรเลียและไทยกันอย่างเมามัน ส่งผลให้เกิดช่วง “บูม” ของตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทย พ.ศ.2529-2533 เงินเยนแข็งค่าขึ้น อันมีผลส่วนหนึ่งให้การส่งสินค้าจากญี่ปุ่นเข้าสหรัฐอเมริกากระทำได้ยากขึ้น แต่เดิมเมื่อ พ.ศ.2528 เงิน 1 เหรียญสหรัฐแลกได้ 240 เยน แต่ 2 ปีนับจากการลงนามในสัญญานี้เงิน 1 เหรียญสหรัฐแลกได้เพียง 120 เยนเท่านั้น
การนี้ทำให้ญี่ปุ่นย้ายการลงทุนภาคอุตสาหกรรมมาในประเทศไทยรวมทั้งประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนเพื่อผลิตสินค้าส่งไปขายยังสหรัฐอเมริกาและยุโรปแทนการผลิตในญี่ปุ่น เงินเยนแข็งค่าจนสามารถซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้มากมาย นับแต่นั้นมาผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชนในภาคอุตสาหกรรมของไทยก็แซงหน้าภาคเกษตรกรรมอย่างเด่นชัด และการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของไทยนับเป็นผลพวงจากการลงทุนโดยตรงของต่างประเทศ (Foreign Direct Investment หรือ FDI) โดยเฉพาะญี่ปุ่น โดยญี่ปุ่นถือเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุด
อาจกล่าวได้ว่า FDI ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภาคอสังหาริมทรัพย์อย่างขนานใหญ่ ที่ดินชานเมืองหรือในต่างจังหวัดที่แต่เดิมมีศักยภาพทำแต่การเกษตร กลับสามารถแปลงเป็นที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมได้ เมื่อศักยภาพเปลี่ยนไป ราคาก็เพิ่มขึ้นมหาศาล เมื่อมีกิจกรรมด้านอุตสาหกรรม การพัฒนาที่อยู่อาศัยและการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ก็เกิดตามมา ซึ่งยิ่งทำให้ราคาที่ดินถีบตัวสูงขึ้นไปอีก เนื่องด้วยที่ดินสามารถแบ่งซอยมาใช้อย่างเข้มข้นยิ่งขึ้น และอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในที่ดินเพื่อการพาณิชย์ย่อมสูงกว่าที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรม การเปลี่ยนแปลงจากเกษตรกรรมเป็นอุตสาหกรรม ยิ่งทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์เปลี่ยนแปลงไปอย่างก้าวกระโดด


ที่มา: https://www.imf.org/external/datamapper/NGDP_RPCH@WEO/THA/IDN/MYS/PHL/VNM
อ้างอิง
<1> Wikipedia. ข้อตกลงพลาซา https://bit.ly/3goFMMM
<2> สื่อดังญี่ปุ่นเผย ค่ายรถยนต์จ่อย้ายฐานผลิตหนีไทย หลังเจอกระทบหนักจากบาทแข็ง. 24 ธันวาคม 2562. https://www.sanook.com/news/7990998